HISTORY OF JUNGHANS เล่าขานถึงหนึ่งในตำนานนาฬิกาเยอรมัน (ตอนที่ 2)

  

บทความว่าด้วยความเป็นมาของ JUNGHANS แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่จากเยอรมนีในคราวก่อนนั้น เราหยุดไว้ตรงช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็นยุคปลายแห่งความรุ่งเรืองของนาฬิกาจักรกล บทความนี้เรามาต่อกันกับเรื่องราวของเหตุการณ์หลังจากนั้น เริ่มต้นจากการที่ Diehl Group เจ้าสังกัดของ JUNGHANS ได้นำพา JUNGHANS เข้าสู่โลกอิเล็คโทรนิกส์อันเป็นกระแสความนิยมที่เริ่มมาแรงในช่วงนั้นและเป็นที่มาแห่งการล่มสลายของนาฬิกาจักรกลในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องผ่านยุคที่นาฬิกาจักรกลฟื้นคืนชีพกลับมาได้รับความนิยมกันอีกครั้งและก้าวเดินอย่างมั่นคงควบคู่กับนาฬิกาอิเล็คโทรนิกส์สุดล้ำมาจนถึงทุกวันนี้

 

จากพื้นฐานแห่งการผลิตนาฬิกา ATO นาฬิกาคล็อกอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลซึ่งเป็นนาฬิกาแบบเพนดูลัมความเที่ยงตรงสูงลูกผสมไร้บาร์เรลแต่ใช้คอยล์อิเล็กโทคนิกส์เป็นตัวสร้างสนามแม่เหล็กมาผลักดันแม่เหล็กที่ติดอยู่บนลูกตุ้มเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนให้กลไกนาฬิกาทำงานที่ JUNGHANS เริ่มผลิตขึ้นจำหน่ายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 จนถึงทศวรรษที่ 1960 (ATO มาจากการออกเสียงของคำว่า Hatot อันเป็นนามสกุลของ Léon Hatot ผู้คิดค้นระบบนี้ โดย JUNGHANS ได้ถือสิทธิ์ในการสร้างนาฬิกาที่ใช้ระบบนี้ในเยอรมันร่วมกับ Hamburg-Amerikanische Uhrenfabrik (HAU) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาคล็อกอีกแห่งหนึ่งใน Schramberg) ทำให้แผนกเทคนิคของ JUNGHANS ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาระบบอิเล็คโทรนิกส์เพื่อนำมาใช้กับนาฬิกาของตน จึงได้คิดค้นวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบขึ้นลานด้วยไฟฟ้าหรือการนำทรานซิสเตอร์มาควบคุมการทำงานของบาลานซ์ ซึ่งนำพลังงานมาจากแบตเตอรี่ ตลอดจนการพัฒนาระบบควอตซ์ ทำให้ JUNGHANS เดินหน้าเข้าสู่โลกอิเล็คโทรนิกส์อย่างเต็มตัวตั้งแต่ช่วงหลังกลางทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

 

0191

นาฬิกาคล็อก ATO ของ JUNGHANS จากปี 1951 

 

 

ศักราชแห่งยุคอิเล็คโทรนิกส์ของ JUNGHANS เริ่มต้นขึ้นในปี 1967 เมื่อ JUNGHANS ได้เปิดตัวเครื่องนาฬิกาข้อมือระบบอิเล็คโทร-เม็คคานิคอล ทำงานด้วยทรานซิสเตอร์ร่วมกับมอเตอร์และบาลานซ์จากพลังงานแบตเตอรี่แบบแรกของตนออกมาภายใต้ชื่อรหัสว่า Calibre W600 (ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง) โดยปีถัดมาก็ได้นำมาประจำการในนาฬิกาข้อมือที่ให้ชื่อว่า ATO-Chron เพื่อเชื่อมโยงสัมพันธ์กับนาฬิกาคล็อกอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลแบบ ATO อันโด่งดังของตน ให้หลังไม่นานก็มีรุ่น Dato-Chron ที่มากับดิสเพลย์แสดงวันที่ตามออกมาด้วย โดยเครื่องที่ใช้ในนาฬิกาทั้ง 2 แบบบางล็อตนั้นยังถูกนำไปทดสอบเพื่อให้ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ด้วย และตลอดช่วงเวลาที่ผลิตนั้นก็ได้มีการพัฒนาเครื่องอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มียอดขายจนถึงปี 1975 เป็นจำนวนถึง 150,000 เรือน

 

 

020

 

Dato-Chron นาฬิกาข้อมือเวอร์ชั่นมีวันที่ของ ATO-Chron นาฬิกาข้อมือระบบอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลแบบแรก เริ่มผลิตเมื่อปี 1967 ใช้เครื่อง W600.12 ที่นำการสร้างพลังงานจากระบบ ATO มาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนกลไกนาฬิกา 

 

 

ขณะเดียวกันในปี 1967 นาฬิกาคล็อก ATO-Chron ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับวางบนชั้นที่ทำงานด้วยระบบควอตซ์สำหรับใช้ส่วนตัวแบบแรกก็ถูกเปิดตัวออกมาในชื่อ Astro-Chron อีกด้วย และปีเดียวกันนี้เองที่ทาง JUNGHANS ได้หยุดผลิตนาฬิกาข้อมือจักรกลโครโนมิเตอร์เนื่องจากทางศูนย์ทดสอบได้หยุดการทดสอบลงเพราะปริมาณเครื่องที่ส่งเข้าทดสอบมีจำนวนลดลงอย่างมาก

 

 

0211

Astro-Chron นาฬิกาคล็อกระบบควอตซ์สำหรับใช้งานส่วนตัวแบบแรกของเยอรมันที่ JUNGHANS เริ่มต้นผลิตในปี 1967 

 

 

ปลายทศวรรษที่ 1960 JUNGHANS ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการสำหรับการแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั้งในประเทศเยอรมนีเองและในระดับนานาชาติ โดยใช้เครื่องจับเวลาที่ทำงานด้วยระบบควอตซ์ที่ JUNGHANS คิดค้นและผลิตขึ้น และด้วยความรู้ที่มีนี้เองทำให้ JUNGHANS ทำการผลิตนาฬิกาข้อมือเครื่องควอตซ์ขึ้นได้สำเร็จในปี 1970 (ตามหลังสวิส 1 ปี) ซึ่งถือเป็นนาฬิกาข้อมือเยอรมันเครื่องควอตซ์แบบแรก ใช้ชื่อว่า Astro-Quartz โดยเครื่องที่ใช้มีชื่อว่า Calibre W666 โดยนำมาเปิดตัวต่อสื่อมวลชนในปี 1971 และสามารถผลิตออกจำหน่ายได้จริงในปี 1972 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เยอรมนีได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนขึ้น ณ เมืองมิวนิค โดย JUNGHANS ก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จับเวลาการแข่งขันอย่างเป็นทางการร่วมกับแบรนด์สวิสชื่อดังด้วย โดยทาง JUNGHANS ได้นำนาฬิกาดิจิตอลที่เรียกว่า Indicators ซึ่งสามารถแสดงเวลาบนจอโทรทัศน์ สามารถพิมพ์เวลา และทำงานร่วมกับกล้องถ่ายภาพความเที่ยงตรงสูงที่เส้นชัยได้ มาใช้ในการจับเวลาด้วย 

 

 

0221

Astro-Quartz เป็นนาฬิกาข้อมือควอตซ์รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศเยอรมนี ใช้เครื่อง W666 ผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1970

 

 

0031004

 

(ซ้าย) JUNGHANS ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ เมืองมิวนิคในปี 1972 
(ขวา) นาฬิการะบบควอตซ์ที่ใช้จับและแสดงเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาที่พัฒนาโดย JUNGHANS

 

 

และก็มาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่วิกฤตควอตซ์ออกฤทธิ์ถล่มผู้ผลิตนาฬิกาฝั่งยุโรป ก็ทำให้ทาง JUNGHANS ต้องยุติการผลิตนาฬิกาเครื่องจักรกลลงชั่วคราวโดยหันมาเน้นพัฒนานาฬิกาเครื่องควอตซ์ของตนอย่างเต็มที่ และในปี 1976 ก็ได้เปิดตัวนาฬิกาควอตซ์ความเที่ยงตรงสูง Calibre W667 ตามมาด้วย Calibre W667.26 ในปี 1978 ซึ่งพัฒนาให้มีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วินาทีต่อปีเท่านั้นจนกลายเป็นเครื่องควอตซ์เครื่องแรกของ JUNGHANS ที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ นาฬิการุ่นนี้ถูกวางตลาดไว้ในระดับไฮเอนด์และผลิตขึ้นมาในแบบลิมิเต็ดซีรี่ส์ด้วยจำนวนเพียง 2,000 เรือนเท่านั้น ซึ่งบางเรือนยังถูกผลิตในตัวเรือนทองคำอีกด้วย แต่เนื่องจากการผลิตเครื่องควอตซ์ขึ้นใช้เองนั้นมีต้นทุนที่สูงมากและไม่น่าทำราคาแข่งขันในตลาดได้ หลังจากนั้นไม่นาน JUNGHANS ก็หยุดผลิตเครื่องควอตซ์และในปี 1982 ก็เริ่มซื้อเครื่องนาฬิกาควอตซ์จากสวิสและญี่ปุ่นมาใช้ในนาฬิกาของตน ทำให้จำนวนพนักงานในบริษัทที่ทำงานด้านการผลิตนาฬิกาลดลงจนเหลือไม่ถึง 1,000 คนในปี 1985

 

ในปี 1985 นั้นเองที่ JUNGHANS เริ่มปล่อยผลงานชิ้นใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีด้านคลื่นวิทยุมาใช้ในนาฬิกา โดยเริ่มแนะนำเทคโนโลยีนี้ด้วยนาฬิกาสำหรับวางบนชั้นที่ใช้เครื่องควอตซ์ซึ่งรับสัญญาณเวลาทางคลื่นวิทยุจากนาฬิกาอะตอมิกของสถาบัน German National Metrology (PTB) ที่ตั้งอยู่ที่ Braunschweig ในเยอรมนี ซึ่งส่งผ่านสถานีส่งสัญญาณที่เรียกว่า DCF77 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแฟรงก์เฟิร์ต (เวลาจากนาฬิกาอะตอมิกของสถาบันนี้ถูกยึดถือเป็นเวลาอย่างเป็นทางการของประเทศเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 1978) มาแสดงผลบนหน้าปัดอนาล็อกขนาดใหญ่ 2 หน้าปัด โดยหน้าปัดแรกจะบอกชั่วโมงกับนาทีขณะที่อีกหน้าปัดจะบอกวินาที และผลงานชิ้นนี้ก็คือต้นแบบของนาฬิกาคล็อกที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ (Radio-controlled clock) ในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาไม่นาน JUNGHANS ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวไกลไปอีกขั้นด้วยการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกับนาฬิกาชนิดนี้จนกลายมาเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะทำงานด้วยพลังงานแสงที่มีชื่อว่า RCS1 (Radio Controlled Solar 1) อีกไม่กี่ปีต่อมาก็มีนาฬิกาปลุกควบคุมด้วยคลื่นวิทยุตามออกมาสมทบอีก 

 

023006

 

(ซ้าย) นาฬิกาคล็อกเรดิโอคอนโทรลแบบแรกของเยอรมนีจากปี 1985
(ขวา) RCS1 นาฬิกาคล็อกเรดิโอคอนโทรลทำงานด้วยพลังงานแสงจากแผงโซลาร์เซลล์ จากปี 1986

 

 

จุดมาร์กสำคัญอีกจุดของ JUNGHANS ก็คือปี 1990 อันเป็นปีที่ได้ผลิตนาฬิกาข้อมือดิจิตอลหน้าจอแอลซีดีควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ (เรดิโอคอนโทรล) แบบแรกของโลกออกมาสู่ตลาด นาฬิการุ่นนี้ใช้ชื่อว่า Mega 1 มาในตัวเรือนทรงแปลกตาคือฝั่งซ้ายโค้งฝั่งขวาตรงอันเป็นผลงานการออกแบบของสตูดิโอชื่อดัง Frog Design Studio ทำให้เป็นที่จดจำของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว นาฬิการุ่นนี้ได้ฝังตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุเอาไว้ภายในสายหนัง ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะในช่วงแรกนั้นตัวรับสัญญาณยังมีขนาดใหญ่เกินที่จะซ่อนเอาไว้ภายในตัวเรือนแต่ต่อมาไม่นานก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงได้สำเร็จจนสามารถบรรจุไว้ในตัวเรือนของรุ่นหลังๆ ที่ตามออกมาได้ ในปี 1992 รุ่น Mega 2 ก็ตามออกมาแต่คราวนี้มาในรูปแบบนาฬิกาเรือนกลมผสมเหลี่ยมซึ่งยังคงมีกลิ่นอายของ Mega 1 ซ่อนอยู่ การแสดงผลของ Mega 2 จะเป็นแบบลูกผสมระหว่างแบบเข็มที่แสดงชั่วโมงกับนาทีกับตัวเลขดิจิตอลบนหน้าจอแอลซีดีที่จะแสดงวินาที วันที่ และวัน พร้อมกันนี้ก็ออกรุ่น Mega-Ceramic ซึ่งมีตัวเรือนขนาดเล็กสำหรับให้คุณผู้หญิงสวมใส่มาด้วย อีกปีถัดมาก็ออกรุ่น Mega-Solar ที่นำโซลาร์เซลล์มาเป็นตัวสร้างพลังงานจากแสงมาขายด้วย ส่วนรุ่นใส่ถ่านก็ยังคงผลิตอยู่เช่นเดิม

 

 

007 008

 

(ซ้าย) Mega 1 จากปี 1990 นาฬิกาข้อมือเรดิโอคอนโทรลแสดงผลแบบดิจิตอลแบบแรกของโลก 
(ขวา) Mega 2 จากปี 1992 ผสมผสานการแสดงผลแบบอนาล็อกเข้ากับหน้าจอดิจิตอล

 

 

025 0091

 

(ซ้าย) Mega Solar จากปี 1993 เป็นนาฬิกาข้อมือระบบเรดิโอคอนโทรลที่ทำงานด้วยพลังงานแสงแบบแรกของโลก ซึ่งจุดขายก็คือ มีขนาดเล็ก ให้ความเที่ยงตรงสูงสุด และไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ 
(ขวา) Mega Star นาฬิกาเรดิโอคอนโทรลแบบแรกที่มาในสไตล์นาฬิกาแฟชั่นตัวเรือนพลาสติก วางขายในราคาไม่แพง

 

 

ปี 1994 ก็ได้ออกนาฬิกาแนวแฟชั่นรุ่นแรกให้กับนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลด้วยรุ่น Mega-Star โดยมาในตัวเรือนพลาสติกสีสวย วางขายในราคาไม่แพงนัก และในปีถัดมาก็ได้ออกขั้วตรงข้ามมาด้วยนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลพลังงานแสงราคาแพงในตัวเรือนเซรามิกชื่อว่า Mega Solar Ceramic และต่อมาก็มีการนำวัสดุชนิดอื่นๆ อย่าง คาร์บอน อลูมิเนียม และไทเทเนียม มาใช้ทำตัวเรือนด้วย ข้อดีอีกอย่างของนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลนอกจากจะบอกเวลาอย่างแม่นยำแล้ว สัญญาณวิทยุที่ส่งมายังมาพร้อมกับวันที่ วัน เดือน และเลขสองหลักท้ายของปีด้วย นาฬิกาเรดิโอคอนโทรลจึงจะบอกวันที่ได้ถูกต้องเสมอโดยผู้ใช้ไม่ต้องคอยปรับตั้งวันที่ในเดือนที่ลงท้ายด้วยคมหรือเดือนกุมภาพันธ์แต่อย่างใด

 

 

010 0111

 

(ซ้าย) Mega Solar Ceramic ตัวเรือนและสายเซรามิกสุดไฮเทค
(ขวา) Mega Carbon อีกหนึ่งวัสดุใหม่ที่ JUNGHANS นำมาใช้ในตัวเรือนของนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1990

 

 

แม้ตลาดนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลของตนกำลังไปได้ดีแต่ JUNGHANS ก็ไม่เคยลืมรากเหง้าแห่งการผลิตนาฬิกาจักรกลของตน ดังนั้นเมื่อตลาดนาฬิกาจักรกลเริ่มฟื้นตัวกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง JUNGHANS จึงไม่ลังเลที่จะหวนกลับมาผลิตสิ่งที่ตนคุ้นเคยโดยเริ่มผลิตนาฬิกาเครื่องอัตโนมัติและเครื่องไขลานออกมาใหม่ในปี 1997 ซึ่งนาฬิกาที่ผลิตออกมาก็คือ นาฬิกาข้อมือรุ่นดังในอดีตที่ออกแบบโดย Max Bill เมื่อต้นทศวรรษที่ 1960 นั่นเอง และด้วยดีไซน์สะอาดตาแฝงกลิ่นเรโทรของนาฬิการุ่นนี้ก็ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมและเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้คนยุคใหม่ยิ่งกว่าครั้งออกมาใหม่ๆ เมื่อครั้งอดีตเสียอีก ถัดมาอีกปีก็ได้นำนาฬิกา Military Chronograph นาฬิกาโครโนกราฟรุ่นที่มีขอบตัวเรือน 12 หยักหมุนได้ซึ่งเคยผลิตให้กับทหารใช้ในยุคทศวรรษที่ 1950 กลับมาผลิตอีกครั้ง โดยนำเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟของ ETA มาประจำการ เป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งนาฬิกาจักรกลของ JUNGHANS ด้วยนาฬิการุ่นประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ไลน์นี้

 

 

037

 

นาฬิกา Military Chronograph ที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นสำหรับให้ทหารใช้ในยุคทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นต้นแบบที่นำกลับมาผลิตใหม่

 

 

แต่การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในนาฬิกาของ JUNGHANS ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ช่วงเดียวกันนั้นเองก็ได้พัฒนาไมโครชิปส์ที่สามารถโปรแกรมและตั้งค่าได้เพื่อนำมาใส่ในนาฬิกาข้อมือ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้นาฬิกาสามารถใช้ได้ทั้งแสดงเวลาและใช้เป็นแท็กสำหรับบันทึกค่าต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งในปี 1999 ทาง JUNGHANS ก็ได้รับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ที่สุดของบริษัทจากบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการรถไฟใต้ดินของฮ่องกง ให้ส่งนาฬิกาข้อมือที่ติดตั้งไมโครชิปส์จำนวนถึง 200,000 เรือน ไปให้กับผู้โดยสารใช้เพื่อเป็นแท็กแทนเงินสดในการใช้บริการรถไฟใต้ดิน (รถไฟฟ้าบ้านเราน่าเอานาฬิกาข้อมือแบบนี้มาขายแทนบัตรรถไฟฟ้าบ้างนะครับ)

 

เมื่อผ่านพ้นปี 2000 เจ้าสังกัดของ JUNGHANS ซึ่งก็คือ Diehl Group ได้ตัดสินใจขายบริษัทนาฬิกา JUNGHANS เพื่อไปมุ่งดำเนินการในธุรกิจหลักของตน ซึ่งก็คือธุรกิจด้านโลหะ วงจร และเครื่องจักร แต่เพียงอย่างเดียว JUNGHANS จึงมีเจ้าของใหม่คือกลุ่ม EganaGoldpfeil Group แต่ด้วยวิกฤตภายในกลุ่มบริษัทเองทำให้ต้องขาย JUNGHANS ต่อให้กับครอบครัว Steim ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจาก Schramberg ในเดือนมกราคม ปี 2009 ภายใต้การนำของ Dr. Hans-Jochem Steim กับลูกชายของเขา Hannes Steim ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัท Kern-Liebers ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ใน Schramberg (Kern-Liebers ก่อตั้งขึ้นในปี 1888 ใน Schramberg โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาคล็อกในแถบ Black Forest ก่อนจะพัฒนามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการทอ ผลิตเข็มขัดนิรภัย ลวดสปริง และสปริง รายใหญ่ที่มีโรงงานอยู่ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย) และเป็นผู้ที่มีความชื่นชมในขนบการผลิตนาฬิกาอันเก่าแก่อันเป็นฐานรากดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเขาเริ่มสร้างกิจการจนมาเป็น Kern-Liebers ในทุกวันนี้ ชายคู่นี้ได้ร่วมกันกอบกู้ Uhrenfabrik Junghans GmbH & Co. KG ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ตกอยู่ในความเงียบเหงามาเกือบตลอดทศวรรษ

 

 

JUNGHANS ในปัจจุบันสมัย

 

จากวันนั้นเป็นต้นมา JUNGHANS ภายใต้การบริหารของครอบครัว Steim ก็ได้เริ่มขยายการผลิตนาฬิกาภายใต้แบรนด์ JUNGHANS อย่างต่อเนื่องซึ่งนอกจากนาฬิกาในไลน์ซึ่งถือเป็นซิกเนเจอร์ที่สืบทอดจากคอลเลคชั่นเดิมแห่งอดีตอันรุ่งเรืองในความเป็นนาฬิกาจักรกลของตนอย่าง Max Bill และ Meister แล้วก็ได้ออกนาฬิการุ่นและไลน์ใหม่ๆ มาอีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาจักรกลฟังก์ชั่นต่างๆ นาฬิกาควอตซ์ระบบเรดิโอคอนโทรลทั้งแบบข้อมือและแบบคล็อก จนถึงนาฬิกาเครื่องควอตซ์ปกติ ทั้งยังมีการร่วมผลิตนาฬิกากับแบรนด์เครื่องแต่งกาย เครื่องกีฬา และแอคเซสเซอรี่ส์ชั้นนำของเยอรมันอย่าง Bogner ด้วย ซึ่งการบริหาร ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จนถึงการประกอบนั้น จะถูกทำใน Schramberg อันเป็นถิ่นดั้งเดิมของ JUNGHANS และเป็นที่มาของประโยค Made in Germany บนนาฬิกา JUNGHANS ทุกเรือน

 

 

024

 

Apollo จากปี 2004 เป็นนาฬิกาแบบแรกที่ใช้เครื่องระบบเรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency

 

 

ปัจจุบันไลน์นาฬิกาของ JUNGHANS มีทั้งนาฬิกาที่ใช้เครื่องควอตซ์ซึ่งมากับเทคโนโลยีคลื่นวิทยุแบบ Multi-frequency ในการควบคุมเวลาที่สามารถรับสัญญาณเพื่อปรับเป็นเวลาท้องถิ่นของยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ได้เอง ทั้งยังสามารถปรับตั้งเวลาแบบแมนวลโดยตัวผู้ใช้เองได้ด้วยหากอยู่หรือเดินทางไปในประเทศที่ไม่มีเครื่องส่งสัญญาณเวลา ในนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลรุ่นต่างๆ ตลอดจนรุ่น Worldtimer Chronoscope และ Aviator Chronoscope ที่มีฟังก์ชั่นจับเวลาและการแสดงค่าอื่นๆ เพิ่มเติมมาด้วยซึ่งทั้งหมดจะมีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงผลร่วมกันของเข็มและหน้าจอตัวเลขดิจิตอล เครื่องนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลที่รับคลื่นวิทยุแบบ Multi-frequency นี้เป็นผลงานจากทีมวิจัยของ JUNGHANS ที่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้ในปี 2004 โดยเครื่องจะทำการรับสัญญาณเวลาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างตีสองถึงตีสามเพื่อให้เวลาในแต่ละวันเป็นไปอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่ใช้พลังงานแสง และรุ่นที่ใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างไทเทเนียมและเซรามิกมาทำตัวเรือนกับสาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการต่อยอดภูมิประดิษฐ์ที่ JUNGHANS เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 จนถึงปี 2000 ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีบางรุ่นที่ใช้เครื่องระบบเรดิโอคอนโทรลแบบปกติด้วยเช่นกัน

 

 

018 1120 44 big026 4102 00 big

 

(ซ้าย) Spektrum ในตัวเรือนสตีลขอบตัวเรือนเซรามิกขนาด 41.6 มม. พร้อมสายสตีลที่มีข้อกลางเป็นเซรามิก ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ระบบเรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ขนาดใหญ่ด้วยตัวเลขดิจิตัล มีกำลังสำรอง 21 เดือน 
(ขวา) Mega Futura ตัวเรือนสตีลทรงเฉพาะขนาด 38.5 x 44 มม. ซึ่งปรับดีไซน์มาจากตัวเรือนของ Mega 1 นาฬิกาข้อมือเรดิโอคอนโทรลแสดงผลแบบดิจิตอลแบบแรกของโลกจากปี 1990 ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency แสดงค่าเวลา วันที่ และสัปดาห์ของปี ด้วยตัวเลขดิจิตอลแบบเปล่งแสง

 

 

056 4831 00 big056 4812 44 big

 

(ซ้าย) Worldtimer Chronoscope ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มม.ที่มากับฟังก์ชั่นต่างๆ มากมายซึ่งจัดวางการแสดงผลได้อย่างแปลกตาชวนมอง เริ่มจากบอกชั่วโมงแบบจั้มปิ้งอาวร์ในช่องกลม ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา บอกนาทีด้วยเข็มในวงหน้าปัดซึ่งจัดวางแบบเยื้องศูนย์มาทางด้านซ้าย ส่วนแถบด้านขวาจะแสดงวัน วันที่ สัปดาห์ของปี ไทม์โซนของเวลาที่แสดง และสามารถกดเข้าสู่โหมดจับเวลา นับเวลาถอยหลัง และตั้งเวลาอลาร์มได้ด้วย ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency มาพร้อมสายหนังจระเข้เส้นหรู 
(ขวา) Aviator Chronoscope ตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มม.เคลือบพีวีดีดำ มาพร้อมขอบตัวเรือน 12 หยักหมุนได้อันเป็นดีไซน์เอกลักษณ์ของนาฬิกาโครโนกราฟสำหรับทหารที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นในทศวรรษที่ 1950 ฝาหลังเป็นคาร์บอน มากับสายสตีลเคลือบพีวีดีดำ บอกเวลาปกติแบบสามเข็ม พร้อมหน้าจอดิจิตอลขนาดใหญ่ 2 จอ แสดงวันที่ วัน ไทม์โซน ค่าจับเวลา และจับเวลาถอยหลัง ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์

 

 

056 4211 44 big030 4941 44 big

 

(ซ้าย) 1972 Mega Solar ตัวเรือนสตีลขนาด 43.3 มม. ขอบตัวเรือนหมุนได้ ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ขนาดใหญ่ กำลังสำรอง 21 เดือน
(ขวา) Milano ตัวเรือนสตีลขนาด 41 มม. ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรล บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ มาพร้อมสายสตีลถักแบบมิลานีส

 

 

ไลน์นาฬิกาควอตซ์ระบบเรดิโอคอนโทรลของ JUNGHANS ไม่ได้ผลิตเฉพาะสำหรับคุณผู้ชายครับ เพราะแบบสำหรับคุณผู้หญิงก็มีให้เลือกหลายรุ่นด้วยกันซึ่งก็มีให้เลือกทั้งแบบที่มีดีไซน์เฉพาะตัวดูโมเดิร์นเข้ากับระบบที่ใช้กับแบบดีไซน์นาฬิกาดั้งเดิมที่ซ่อนความไฮเทคเอาไว้ภายใน 

 

 

013 1121 44 big010 7003 00 big

 

(ซ้าย) Aura Quadra ตัวเรือนเซรามิกขนาด 29.5 x 28.9 มม. พร้อมสายเซรามิกบานพับไทเทเนียม ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์บอกเวลาแบบสองเข็มพร้อมหน้าต่างตัวเลขดิจิตอลแสดงวันที่หรือวินาที 
(ขวา) Diplomat Radio-Control ในตัวเรือนสตีลเคลือบพีวีดีโรสโกลด์ขนาด 34 มม. ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์บอกเวลาแบบสองเข็มพร้อมหน้าต่างตัวเลขดิจิตอลแสดงวันที่หรือวินาที มาพร้อมสายหนังวัวพิมพ์ลายหนังจระเข้ 

 

 

ส่วนไลน์นาฬิกาจักรกลนั้น นำทัพโดยนาฬิกาในคอลเลคชั่น Max Bill by Junghans ที่ยังคงนำมาผลิตอย่างต่อเนื่องในรูปโฉมเดิม โดยมีให้เลือกทั้งเครื่องอัตโนมัติ เครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟ และเครื่องไขลาน โดยใช้เครื่องเบสของสวิส (ไม่พ้น ETA) ต่อด้วยคอลเลคชั่น Meister ซึ่งเป็นการนำชื่อคอลเลคชั่นนาฬิกาจักรกลระดับหรูอันเก่าแก่ของแบรนด์กลับมาสานตำนานต่อ ทำงานด้วยเครื่องจักรกลสวิสที่ได้รับการขัดแต่งอย่างประณีต นอกจากนั้นก็ยังมีคอลเลคชั่น Attaché ที่เป็นนาฬิกาแบบที่มีคอมพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นมาจากการบอกเวลาตามปกติ และก็มีคอลเลคชั่น Bogner by Junghans ที่ JUNGHANS ทำการผลิตร่วมกับแบรนด์เครื่องแต่งกายและแอคเซสซอรีส์อันเก่าแก่ของเยอรมันที่ชื่อว่า Bogner

 

 

027 3004 44 big1027 4130 00 big

 

(ซ้าย) Max Bill by Junghans - Max Bill Hand-wound ตัวเรือนสตีลขนาด 34 มม. เดินด้วยเครื่องไขลาน Calibre J805.1 ซึ่งปรับปรุงมาจากเครื่อง ETA 2801 สวมใส่คู่กับสายสตีลถักแบบมิลานีส 
(ขวา) Meister Chronometer ตัวเรือนสตีลขนาด 38.4 มม. เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre J820.1 ที่มากับแฮร์สปริงสีฟ้า และผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ โดยปรับปรุงมาจากพื้นฐานของเครื่อง Soprod A10

 

 

20120926 4415929027 4760 00 big

 

(ซ้าย) Bogner by Junghans - Willy Chronoscope ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 44.5 มม. ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟที่ปรับปรุงจาก Valjoux 7750 ตัวโลโก้ B ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกาคือโลโก้ของแบรนด์เครื่องแต่งกายชั้นนำของเยอรมัน Bogner ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ในการร่วมผลิตและจำหน่ายนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้
(ขวา) Attaché Agenda ตัวเรือนสตีลขนาด 41.5 มม. บอกเวลาแบบสามเข็มพร้อมหน้าต่างวันที่และมีหน้าปัดย่อยบอกวันกับสัปดาห์ของปีและมาตรกำลังสำรองมาด้วย ใช้เครื่องอัตโนมัติที่ปรับปรุงจาก ETA 2892 โดยติดตั้งโมดูล 9075 ของ Soprod 

 

 

นาฬิกาควอตซ์ใส่ง่ายใส่สบายก็มีทำออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกันโดยมีทั้งในแบบเครื่องควอตซ์ปกติทั่วไป และแบบเครื่องควอตซ์ที่ใช้พลังงานแสงซึ่งเป็นเครื่องอินเฮ้าส์พลังงานแสงที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นใช้เอง

 

 

014 4061 44 big047 4030 44 big

 

(ซ้าย) Milano Solar ในตัวเรือนสตีลขนาด 37 มม. เครื่องควอตซ์อินเฮ้าส์ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มพร้อมช่องแสดงวันที่ มีกำลังสำรอง 4 เดือน มาพร้อมสายสตีลถักแบบมิลานีส 
(ขวา) Munchen ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 32 มม. บอกเวลาแบบ 3 เข็มพร้อมหน้าต่างแสดงวันที่ด้วยเครื่องควอตซ์ มาพร้อมสายสเตนเลสสตีลแบบ 3 แถว 

 

 

ก้าวสู่ความเป็นนาฬิการะดับสูงด้วย ERHARD JUNGHANS

 

หนึ่งในย่างก้าวใหม่ที่สำคัญของ JUNGHANS ยุคใหม่ก็คือการเปิดตัวแบรนด์ ERHARD JUNGHANS ในปี 2007 ซึ่งเป็นการแยกแบรนด์ออกมาต่างหากเป็นอีกแบรนด์หนึ่ง วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งแบรนด์ ERHARD JUNGHANS ขึ้นมาก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ Mr. Erhard Junghans ผู้ให้ก่อตั้ง JUNGHANS ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1861 โดยนาฬิกาแต่ละแบบที่ผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์ ERHARD JUNGHANS นั้นจะเป็นนาฬิการะดับสูงซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยความพิถีพิถันในดีไซน์สุดพิเศษที่แตกต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตนและมาพร้อมกับกลไกชั้นเยี่ยมที่ได้รับการขัดแต่งอย่างงดงามพร้อมสอดแทรกด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำอันเป็นหัวใจของแบรนด์เสมอมาในตัวเรือนสเตนเลสสตีลหรือทองคำ 18k

 

คอลเลคชั่นแรกที่เปิดตัวออกมาพร้อมกับแบรนด์ก็คือ Creator 1861 ที่มาในตัวเรือนทรงกลมร่วมสมัยขนาด 42 มม. โดยมีรูปแบบของหน้าปัดที่ดูโมเดิร์นสุดๆ ด้วยการยกแถบส่วนกลางทางแนวขวางขึ้นมาให้คล้ายกับสะพานเป็นจุดเด่นสำคัญประจำตัว ต่อด้วยคอลเลคชั่น Tempus ที่มาในสไตล์คลาสสิกด้วยตัวเรือนแบบเดียวกับ Creator 1861 แต่มากับหน้าปัดเรียบง่ายสะอาดตาและใช้หลักชั่วโมงเป็นเลขโรมันอันเป็นลักษณะของนาฬิกาพกสมัยก่อน

 

 

028 4651 00 big028 4726 00 big

 

(ซ้าย) Creator 1861 Retrograde ในตัวเรือนสตีลที่เด่นด้วยมาตรแสดงวินาทีทรงพัดที่ส่วนบนของหน้าปัดซึ่งชี้ บอกด้วยเข็มวินาทีกลางสามแฉกซึ่งแต่ละแฉกจะมีความยาวต่างกันไว้ชี้บอกช่วง เลขวินาที 3 ระดับบนมาตร
(ขวา) Tempus Power Reserve ตัวเรือนสตีล บอกเวลาแบบสองเข็มครึ่งพร้อมมาตรแสดงกำลังสำรอง ทำงานด้วยเครื่องอัตโนมัติ ในแบบหน้าปัดลงอีนาเมลเคลือบเงาสีดำ

 

 

มาถึงปี 2008 ERHARD JUNGHANS ก็มอบเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ด้วยนาฬิกาตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ทรงเหลี่ยมที่ผลิตขึ้นแบบลิมิเต็ดโปรดักชั่น โดยใช้ชื่อว่า Erhard Junghans 1 บรรจุเครื่องไขลาน 18 จิวเวลที่ได้รับการสลักตกแต่งด้วยมือ และขัดแต่งอย่างพิถีพิถันสุดๆ ทั้งยังระบุหมายเลขประจำตัวเรือนเอาไว้บนหน้าปัดด้วยการใช้อักษรย่อ Nr (ซึ่งมาจาก Number) วางแทนตัวเลขหลักชั่วโมงใดหลักชั่วโมงหนึ่งใน 12 หลัก ณ ตำแหน่งลำดับที่ของนาฬิกาเรือนนั้น นั่นหมายความว่านาฬิกาทั้ง 12 เรือน จะมีหน้าปัดที่ไม่เหมือนกันเพราะตำแหน่งอักษร Nr จะอยู่กันคนละตำแหน่งตั้งแต่ 1 ถึง 12 ในแต่ละเรือน

 

 

013

 

Erhard Junghans 1 ตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ขนาด 35 x 51 มม. เปิดตัวในปี 2008 ด้วยการผลิตแบบลิมิเต็ดโปรดักชั่นเพียง 12 เรือนที่แน่นอนว่าจำหน่ายหมดไปนานแล้ว ใช้เครื่องไขลาน 18 จิวเวล Calibre J325 กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง ที่ขัดแต่งและสลักลวดลายอย่างงดงาม 

 

 

ส่วนคอลเลคชั่นล่าสุดที่ชื่อ Aerious นาฬิกาสไตล์นักบินซึ่งเริ่มออกขายในปี 2009 นั้นเป็นนาฬิกาโครโนกราฟในตัวเรือนสตีลทรงแปลกตาขนาด 46.6 มม. ที่ออกแบบองค์ประกอบได้อย่างมีเอกลักษณ์ เริ่มจากปุ่มกดเหลี่ยมทรงปีกโค้งรับนิ้วมือกับเม็ดมะยมพร้อมบ่าปกป้องซึ่งวางตำแหน่งอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 นาฬิกา ให้กดใช้งานได้อย่างถนัดนิ้วยิ่งขึ้น ต่อด้วยวงหน้าปัดย่อยแบบ 4 วงที่จัดวางอยู่กลางหน้าปัดชิดกับจุดกึ่งกลางให้อ่านค่าที่นาฬิกาแสดงทั้งหมดได้ในจุดเดียว เดินด้วยเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟแบบคอลัมน์วีล

 

 

014

 

Aerious ตัวเรือนสตีลขนาด 46.6 มม. มากับดีไซน์อันแปลกตาของปุ่มกดจับเวลาและตำแหน่งการจัดวาง เด่นด้วยหน้าปัดย่อย 4 วงตรงกึ่งกลางที่อ่านค่าต่างๆ ทั้งหมดได้ ณ จุดสายตาเดียว ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลัก วินาที นาทีกับชั่วโมงจับเวลา กำลังสำรอง และวันที่

 

 

และในปีที่แล้ว (2011) ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบ 150 ปีของแบรนด์ ก็ได้ออกนาฬิการะดับแฟล็กชิพรุ่นใหม่ในชื่อว่า Erhard Junghans 2 มาให้โลกได้ชื่นชมโดยคราวนี้มาในตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน โดยระบุอักษร Nr เป็นตัวบ่งหมายเลขประจำเรือน ณ หลักชั่วโมงนั้นๆ ว่าเป็นเรือนที่เท่าไหร่ใน 12 เรือน เช่นเดียวกับ Erhard Junghans 1 ในอดีต เดินด้วยเครื่องไขลานที่ได้รับการขัดแต่งอย่างพิถีพิถันและยังโดดเด่นด้วยการใช้แฮร์สปริงเบรเกต์ Nivarox สีฟ้าซึ่งมองเห็นได้จากทางฝาหลังกรุแซฟไฟร์ โดยผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์จากสถาบันซึ่งตั้งอยู่ที่ Glashutte โดยเป็นการทดสอบในขณะที่เครื่องถูกประกอบในตัวเรือนเรียบร้อยแล้วด้วย

 

 

039 040

 

Erhard Junghans 2 ตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ขนาด 40.4 มม. หน้าปัดสีกราไฟต์ ออกมาในวาระฉลองครบรอบ 150 ปีของแบรนด์เมื่อปี 2011 ผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน ใช้เครื่องไขลาน Calibre J330 ที่ผลิตและขัดแต่งอย่างพิถีพิถันซึ่งผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโน มิเตอร์ 

 

 

ERHARD JUNGHANS ในแต่ละคอลเลคชั่น ยังมีรุ่นย่อยที่มากับฟังก์ชั่นต่างกันแยกออกไปอีกหลายแบบด้วยกันซึ่งในโอกาสต่อไปจะมาเจาะลึกในรายละเอียดที่น่าสนใจของแต่ละแบบกันอีกครั้งครับ 

 

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของนาฬิกา JUNGHANS แบรนด์เยอรมันเก่าแก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดมาแล้วกว่า 150 ปี และก็เป็นนาฬิกาอีกแบรนด์หนึ่งในโลกใบนี้ที่ดำเนินการผลิตนาฬิกาออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่องแบบแทบไม่เคยขาดช่วง ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่า สองพ่อลูกครอบครัว Steim จะนำพา JUNGHANS กลับขึ้นทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่ดังเช่น JUNGHANS เคยเป็นในอดีตได้มากน้อยเพียงใด

 

By: Viracharn T.

 

(ภาพประกอบบางส่วนจาก Watch Time Special Issue: Junghans)