วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน “กำเนิด ROLEX กินถ่าน”

By: Rittidej Mohprasit

 

เป็นที่รู้ๆ กันว่า AUDEMARS PIGUET คือผู้บุกเบิก และให้กำเนิดนาฬิกากลุ่มลักซ์ชัวรี่สปอร์ต ด้วยนาฬิการุ่น Royal Oak Ref. 5402 ซึ่งเป็นการร่วมมือกัน ระหว่างแบรนด์กับนักออกแบบนามระบืออย่าง Mr. Gerald Genta เพื่อสร้างตลาดกลุ่มใหม่ และสร้างเทรนด์การออกแบบนาฬิกาแนวใหม่ อันคำนึงถึงรูปแบบโดยองค์รวม (holistic design) ที่ทั้งตัวเรือนและสายนาฬิกา สอดผสานกันเป็นชิ้นเดียว (integrated bracelet) จนกระทั่งผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำรายอื่นๆ ต้องกระโดดลงมาร่วมเล่นในตลาดนี้อย่างคึกคักในช่วงปี 1970s เช่น PATEK PHILIPPE ก็นำเสนอนาฬิการุ่น Nautilus Ref. 3700 (ออกแบบโดย Mr. Gerald Genta เช่นกัน) IWC มีรุ่น Ingeniuer SL (ออกแบบโดย Mr. Gerald Genta เช่นเดียวกันอีก) และทางแบรนด์ Vacheron Constantin ก็มีรุ่น Overseas Ref. 222 (ออกแบบโดยคนอื่น แต่ยังคงภายใต้คอนเซ็ปท์เดียวกัน) ฯลฯ

 

56953756 hero 880

AUDEMARS PIGUET Royal Oak Ref. 540

 

14290 z2

PATEK PHILIPPE Nautilus Ref. 3700

 

7444727 xxl

IWC Ingeniuer SL

 

Vacheron Constantin Overseas vintage 1000

Vacheron Constantin Overseas Ref. 222

 

คำถามคือ แล้วราชาแห่งโลกนาฬิกาอย่าง ROLEX ล่ะ? แน่นอนว่าแบรนด์ราชันย์ตรามงกุฎอย่าง ROLEX ก็มี OysterQuartz ที่มีตัวเรือนและสาย ที่มีลักษณะผิดแปลกไปจากชาวบ้าน และกำเนิดในยุค 1970’s ด้วยเหมือนกัน จนบางคนเข้าใจกันไปว่า รูปแบบสายและตัวเรือนแบบนี้คือการตอบโต้ทางการตลาดของ ROLEX ซึ่งจริงๆ แล้วดีไซน์และไลน์การผลิต OysterQuartz มาจากเหตุผลทางเทคนิคอื่นประกอบด้วย และไม่ได้มุ่งหมายให้กลายเป็น นาฬิกากลุ่มลักซ์ชัวรี่สปอร์ตอย่างแบรนด์อื่นๆ ดังนั้นเพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ คงต้องย้อนอดีตกลับไปไกลกว่านั้นสักหน่อย จะได้เห็นภาพและความเป็นมาของเรื่องนี้ทั้งหมด

 

2. CEH Engineer

วิศวกรของ CEH

 

ถ้าเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปในโลกนาฬิกายุค 1960s สิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือกลไกนาฬิการะบบควอท์ซ ที่แม้จะให้เครดิตไปที่อุตสาหกรรมนาฬิกาญี่ปุ่น ว่าเป็นผู้ริ่เริ่มขึ้น แต่จริงๆ ระหว่างช่วงเวลานั้น ก็ถือเป็นการแข่งขันกัน ระหว่างอุตสาหกรรมนาฬิกาของแต่ละประเทศ โดยในฝั่งสวิส ROLEX ก็ร่วมมือกับผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำของสวิสร่วม 20 แบรนด์ อาทิ PATEK PHILIPPE, OMEGA และ PIAGET ลงขันตั้งทีมวิศวกรแห่งศูนย์พัฒนานาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ (Centre Electronique Horloger หรือย่อว่า CEH) เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบนาฬิกาควอท์ซสุดล้ำ ที่มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับมาตราฐานสวิส โดยกลุ่มนี้เห็นว่ากลไกยุคใหม่ในทางทฤษฎี “อาจ” เข้ามาทดแทนนาฬิกาแบบกลไกได้ ไม่ว่าทั้งแบบไขลานและแบบอัตโนมัติในอนาคตอันใกล้ และผลจากการลงเงินลงแรงวิจัยกว่า 6 ปี ช่วงปี 1966 จึงได้กำเนิดกลไกนาฬิกาควอท์ซ ต้นแบบชุดแรกจากทีมสวิสขึ้น นั่นคือ “Beta-1” และถัดจากนั้นอีก 1 ปีคือปี 1967 ก็มีการออกรุ่นต้นแบบที่สองในนาม Beta-2 ด้วยความถี่ 8,000 Hz และส่งเข้าประกวด จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของสถาบัน Concours Chronométrique International de l'Observatoire de Neuchâtel พร้อมสร้างสถิติใหม่ให้กับโลกด้านความแม่นยำ โดยกลไกนี้มีความคลาดเคลื่อนต่ำมากในระดับเพียงวันละ 0.0003 วินาทีต่อวัน ในขณะที่มาตราฐานโครโนมิเตอร์ สำหรับนาฬิกาข้อมือในยุคนั้น มีความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ถึงประมาณ 3-10 วินาทีต่อวัน

 

3. proto BETAนาฬิกา Quartz ต้นแบบของ CEH

 

หลังจากนั้นในปี 1969 CEH จึงตกลงกันที่จะผลิตกลไกนาฬิกาเชิงพาณิชย์ ในนาม Beta-21 เป็นจำนวน 6,000 กลไกเท่านั้น มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ได้นำเครื่อง Beta-21 ไปใส่ตัวเรือน เพื่อจำหน่ายจริงๆ และแน่นอนหนึ่งในนั้นก็คือ ROLEX ที่นำกลไก Beta-21 มาใช้ในนาฬิกาสุดพิเศษ Ref. 5100 แต่ผลิตอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงปี 1970 - 1972 ในขณะที่ PATEK PHILIPPE ใช้กลไกเดียวกันกับ Ref. 3587 “Cercle d’Or” ส่วน Omega ใช้กลไกนี้ในนาฬิการุ่น “Electroquartz”

 

4. Rolex 5100YG

เชิญพบกับ ROLEX Ref. 5100 แบบเยลโลว์โกลด์

 

5. Rolex 5100WG

ROLEX Ref. 5100 แบบไวท์โกลด์

 

123 PatekBeta21 A copy 1024x1024

กลไก Beta-21 ในแบรนด์อื่นๆ ของกลุ่ม CEH

 

5.1.2 Omegaelectroquartz

กลไก Beta-21 ในแบรนด์อื่นๆ ของกลุ่ม CEH

 

ROLEX Ref. 5100 พิเศษอย่างไร? ก็พิเศษตรงที่เป็นนาฬิกา ROLEX น่าจะเพียงรุ่นเดียว ที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “Limited Edition” เพราะผลิตอย่างจำกัดแค่เพียง 1,000 เท่านั้น และแต่ละเรือนจะมีการแกะสลักหมายเลขกำกับ (ว่ากันว่าหลังๆ มี Ref. 5100 ที่เลขเกิน 1,000 โผล่มาด้วย ผมเองก็ไม่เคยเห็นและไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร) แถมยังเป็นนาฬิกา ROLEX รุ่นที่มีราคาแพงที่สุดในขณะนั้น และใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดด้วย ถือเป็นนาฬิการุ่นแรก ที่ใช้กระจกแซฟไฟร์ และเป็นรุ่นแรกที่มีระบบตั้งวันที่อย่างรวดเร็ว (Quick Set) และกลไก Beta-21 ก็มีการทำงานไม่เหมือนนาฬิกาควอท์ซทั่วไป ที่เข็มวินาทีจะเดินทีละ 1 วินาที (แบบ dead-beat seconds) แต่เข็มวินาทีของ Beta-21 จะเดินอย่างราบเรียบ และละเอียดมากกว่าเข็มวินาทีของกลไกแบบ Hi-Beat เสียอีก ดูเผินๆ แล้วออกจะคล้ายกับกลไก “Spring Drive” ของ Seiko เลยทีเดียว (ถ้าอยากดูว่าเดินอย่างไร ลองคลิกดูในคลิ๊ปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=uZ_xSaJxF8I)

 

6. Rolex 5100 Movement

กลไกของ ROLEX Ref. 5100

 

7. Rolex 5100 Caseback

หลังขอROLEX Ref. 5100

 

8. Rolex 5100 Engraving

ข้างหลังตัวเรือนสลักหมายเลขกำกับ

 

สิ่งที่แปลกอีกอย่างคือ เนื่องจากกลไก Beta-21 เป็นกลไกสำเร็จที่ ROLEX แทบไม่สามารถปรับแต่งเพิ่มเติมอะไรเองได้ แถมมีความหนาผิดไปจากกลไกอื่นๆ ของ ROLEX มาก จึงไม่สามารถเอามาใช้ตรงๆ กับตัวเรือนกันน้ำแบบออยส์เตอร์ ที่เป็นลายเซ็นต์ของ ROLEX ได้ และผลก็คือ ROLEX จึงต้องสร้างตัวเรือนทรงใหม่ขึ้น เพื่อมารองรับนาฬิการุ่นนี้ ซึ่งในเมื่อกลไกหนามากอยู่แล้ว ก็คงไม่อยากต้องเพิ่มขนาดให้สามารถกันน้ำได้อีก แถมตัวเรือนใหม่ก็ต้องมาพร้อมสายใหม่ให้สัดส่วนไม่น่าเกลียด นาฬิกา ROLEX Ref. 5100 จึงมาในตัวเรือนแบบไม่กันน้ำ ในระดับที่จะสามารถถือได้ว่าเป็นออยส์เตอร์เคสได้เหมือนกัน (แต่กันความชื้น) และนี่คือต้นกำเนิดดีไซน์ที่คล้ายจะเป็นแบบ “integrated bracelet” ที่สืบทอดมาถึงนาฬิกา OysterQuartz ในยุคถัดมา (เรื่องนี้ผมขอยกไปคุยกันต่อในตอนหน้านะ)

 

9. Rolex Quartz Handout

โฆษณา ROLEX Quartz พร้อมภาพ Ref. 5100

 

นอกจากนี้ที่ พิเศษไปมากกว่านั้นอีกคือ จากเอกสารประกอบการโฆษณา (ภาพประกอบด้านล่างเป็นฉบับภาษาอิตาเลียน) ระบุไว้ว่า “ที่สำนักงานใหญ่กรุงเจนีวาของเรา มีระเบียนทองคำ (Golden Register) ที่มีรายนามระบุอย่างภาคภูมิใจว่า มีใครบ้างที่เป็นลูกค้าผู้ใช้ ROLEX Quartz ซึ่งถือว่าคุณเป็นสมาชิกของสมาคม ROLEX Quartz Club กลุ่มคนพิเศษที่มีจำนวนจำกัด เนื่องจากนาฬิกาที่ปฏิวัติวงการนี้ ถูกผลิตขึ้นมาในจำนวนน้อย สมาชิกของสมาคมนี้จึงจะได้รับการต้อนรับเสมอที่เจนีวา และเมื่อสมาชิกท่านใดเดินทางมาเป็นครั้งแรก เราขอเชิญชวนให้ท่านมาลงนามในระเบียนทองคำ และจะได้รับเชิญให้เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่กรุงเจนีวาของเราเป็นพิเศษ (personal tour)” นั่นแสดงว่าลูกค้า Rolex ที่ซื้อ Ref. 5100 จะได้ทัวร์ส่วนตัวในสำนักงานใหญ่กรุงเจนีวาด้วยนะ พิเศษสุดจริงๆ

 

10. Rolex Quartz Club Promo

เอกสารเดียวกันระบุถึงสมาคมลับ ROLEX Quartz Club

 

แต่แล้วในปี 1972 ROLEX ก็ขอถอนตัวออกจาก CEH และหอบหิ้วความรู้ความเชี่ยวชาญที่ได้มาจาก CEH กลับไปพัฒนากลไกระบบควอท์ซของตัวเองขึ้นมา ทั้งสามารถใส่ในตัวเรือนออยส์เตอร์ได้ จนในที่สุดก็ได้กลายไปเป็นสายการผลิต OysterQuartz ในเวลาต่อมา

 

11. Rolex Oysterquartz ad Bucherer 1979

ใบปลิวโฆษณา ROLEX OysterQuartz

 

12. RolexOysterquartzad2

ใบปลิวโฆษณา ROLEX OysterQuartz

 

สำหรับ ROLEX Ref. 5100 ไม่ว่าจะด้วยความหายาก หรือจะเป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในปัจจุบัน นาฬิการุ่นนี้ก็ได้กลายไปเป็นของสะสมล้ำค่า ที่แฟนๆ ตรามงกุฏใฝ่ฝันถึงไปแล้วเรียบร้อยครับ

 

 

Rittidej