วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน สู่บัลลังก์ราชานาฬิกาสปอร์ต Rolex “Zenith” Daytona Ref. 16520 ตอนที่ 1

By: Rittidej Mohprasit

 

สมัยที่ Daytona ยังใช้เลข Reference สี่หลัก (คือตั้งแต่ Ref. 6239, 6240, 6241, 6262, 6264, 6263, 6265) นาฬิกาในตำนานรุ่นนี้ ยังคงใช้เครื่องขึ้นลานด้วยมือที่ปรับแต่งมาจากเครื่องในกลุ่ม Valjoux Cal. 72 ซึ่งถือเป็นกลไกจับเวลาสามวงมาตรฐานแสนดาษดื่นในยุค 1960s-70s เพราะมีความเป็นที่สุดด้านความอึดทนถึกบึกบึน (ดั่งภรรยา) Daytona จึงแทบไม่แตกต่างกับนาฬิกาจับเวลาขึ้นลานด้วยมือในยุคเดียวกันเกือบทั้งตลาด แค่อาจมีการปรับ/ตกแต่งที่แตกต่างกันไปตามระดับของแบรนด์ และในยุคนั้น นาฬิการุ่นนี้ก็ไม่ใช่รุ่นขายดีของ Rolex ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะรุ่นที่ปัจจุบันเรียกกันว่าพอลนิวแมน (Paul Newman) หรือที่เรียกอีกแบบว่า เอ็กโซติคไดอัล (Exotic dial) ก็มีของค้างสต๊อคจนดีลเลอร์ถึงกับต้องออกโปรให้ผ่อน/ให้ส่วนลด/ขายพ่วงกับรุ่นยอดนิยมอื่นๆ (ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหนังคนละม้วนไปซะแล้ว)

 

1.Lemans 

ตามใบปลิวโฆษณายุคแรก เจ้า Rolex Daytona เคยใช้ชื่อว่า Rolex "Le Mans"

 

สถานการณ์เป็นแบบนี้มาเรื่อยจนปลายยุค 1980's ที่ Rolex ออก Ref. 16520 หรือที่เราเรียกกันว่า “Zenith” Daytona มาช่วยสวมมงกุฎให้ Daytona กลายเป็นราชานาฬิกาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตลาด และเป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าจดจำมากที่สุดของ Rolex ในยุคปัจจุบัน

2.16520Floating99

King of Sport Watches

 

สมัยนั้น การที่ Rolex ยังฝืนใช้เครื่องจับเวลาแบบขึ้นลานด้วยมือเหมือนผู้ผลิตเจ้าอื่น จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลา เพราะในยุคนั้น ผู้ผลิตหลายรายต่างก็พัฒนากลไกอินเฮาส์ใหม่ของตัวเองเป็นเครื่องจับเวลาแบบออโตเมติคกันได้หมดแล้ว อย่างที่ในปี 1969 ผู้ผลิตสามรายต่างก็เปิดตัวกลไกนี้พร้อมๆ กันนั่นคือ Zenith, Heuer และ Seiko แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุด เพราะช่วงนั้นนาฬิกาสวิสกำลังจะเผชิญนวัตกรรมเครื่องนาฬิการะบบควอร์ทซ์จากฝั่งตะวันออก (ซึ่งเปิดประตูนรกจนเกิดเป็นควอท์ซไครซิส (Quartz Crisis) ยาวนานอย่างยาวนานอยู่หลายปี) ทำให้ภาพรวมตลาดนาฬิกาเองก็มองเห็นได้ว่า เครื่องไขลานกำลังจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย จึงไม่แปลกที่ความนิยมและยอดขาย Daytona ในยุคนั้นจึงตกต่ำ

 

3.HeuerAutoChrono

ผู้ท้าชิงจากฝั่ง Heuer

 

 

4.SeikoAutoChrono

ผู้ท้าชิงจากฝั่ง Seiko

 

5.ZenithAutoChrono

สุดหล่อ El Primero A386

 

และอย่างที่บอก พอพระเอกขี่ม้าขาวของเรา นั่นก็คือ Rolex Cosmograph “Zenith” Daytona Ref. 16520 เกิดขึ้นมาโดยการเปิดตัวในงาน Basel Fair ปี 1988 (และผลิตต่อเนื่องจนถึงปี 2000 โดยประมาณ) Rolex ในขณะนั้นก็มองหาทางเพื่อให้ตนเองไม่ตกกระแสความต้องการของผู้บริโภค เลยตกลงทำสัญญาซื้อกลไก Cal. 400 El Primero ในตำนานจาก Zenith ด้วยสัญญายาวสิบปีมูลค่าประมาณเจ็ดล้านเหรียญสวิสฟรัง ส่วยสาเหตุที่ Rolex เลือกใช้เทคโนโลยีของ El Primero ก็ว่ากันว่าเพราะรูปทรงและขนาดที่กำลังดี ทำให้ไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเรือน Oyster Case มากจนเกินไปนั่นเอง

 

ขณะนั้นทางแบรนด์ Zenith เองก็เพิ่งรื้อฟื้นไลน์การผลิตเครื่อง El Primero มาได้มาหมาดๆ เพราะจริงๆ แล้ว ช่วงปลาย 1960's ถึงปลาย 1970's แบรนด์ Zenith ก็ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ หลักๆ เพราะได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาเครื่อง El Primero นี่แหละ และนอกจากจะผลาญเงินจำนวนมหาศาลไปแล้ว ยังใช้เวลาออกแบบและสร้างอีกกว่า 5 ปี ซึ่งพอทำวิจัยเสร็จจนเริ่มจะผลิตได้ ก็กลับต้องเจอคู่แข่งตัดหน้าเปิดตัวเครื่องกลไกจับเวลาแบบออโตเมติค แถมหลังจากนั้นไม่นานก็ต้องเจอวิกฤติควอท์ซซ้ำเติมเข้าไปอีก ซึ่งกว่า Rolex จะคิดปรับปรุง Daytona ก็ปาไปช่วงกลางยุค 1980's แล้ว ดังนั้นตอนจะทำสัญญาซื้อเครื่อง El Primero แบรนด์ Zenith เองก็เลิกผลิต El Primero ไปแล้วกว่าสิบปี ช่วงเวลานี้น่าสนใจมาก เพราะ Zenith เองก็แทบจะลืมวิธีการผลิต El Primero ไปแล้วด้วย ผู้บริหารในยุคก่อนนั้น ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธมุ่งนำแบรนด์ไปสู่ตลาดนาฬิกาควอท์ซ จึงมีหนังสือสั่งให้ขาย/ทำลายเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตเครื่อง El Primero ทิ้งหมด เคราะห์ดีมียอดกระทาชายรายหนึ่งที่ชื่อ Charles Vermot ทำอริยะขัดขืน ฝ่าฝืนคำสั่งเบื้องบนโดยเก็บซ่อนเอกสาร และเครื่องไม้เครื่องมือเกือบทั้งหมด ไว้บนช่องใต้เพดานโรงงานโดยไม่บอกใคร เมื่อถึงคราวจำเป็น Zenith จึงสามารถกลับมาผลิตกลไกหัวแก้วหัวแหวนอย่าง El Primero ได้ นอกจากนั้น เม็ดเงินที่ได้จากสัญญาซื้อขายเครื่อง El Primero ให้กับ Rolex นี้เอง ก็มีบทบาทสำคัญที่ทำให้แบรนด์ Zenith ได้ฟื้นคืนมาอยู่แถวหน้าแห่งวงการนาฬิกาสวิสได้อย่างทุกวันนี้

 

6.Vermot

พ่อหมอ Charles Vermot ผู้ชุบชีวิต Zenith El Primero

 

Rittidej