วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน Jaeger-LeCoultre Futurematic ผู้ลึกลับ

 By: Rittidej Mohprasit

 

สำหรับแฟนๆ นาฬิกาบ้านเรา ชื่อ Jaeger-LeCoultre หรือเรียกย่อๆ ว่า JLC คงเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมีไลน์การผลิตหลายรุ่นที่โด่งดังจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเคสหมุนกลับด้านได้ที่เกิดมาจากกีฬาโปโลอย่าง Reverso นาฬิกาขาลุยอย่าง Polaris หรือเดรสหล่อเนี๊ยบอย่าง Master รุ่นต่างๆ ที่แม้แต่ตัวละครในจักรวาลมาร์เวลอย่าง Dr. Strange ก็ยังมาช่วยใส่โฆษณาให้ แต่พอถ้าพูดถึง Futurematic ก็เชื่อได้เลยว่าหลายคนที่ไม่ได้ “อิน” กับนาฬิกาแนววินเทจอาจไม่ค่อยคุ้นหู... ซึ่งก็นั่นล่ะครับ เราถึงมีคอลัมน์นี้ให้อ่านกันได้ไง

 

1.JLCFUTUREMATIC

Futurematic E501

 

JLC มีแนวคิดที่จะสร้าง “นาฬิกาออโตเมติกแห่งอนาคต” จึงเกิดเป็น Futurematic (สมชื่อ) มีการนำนวัตกรรมด้านกลไกหลายอย่างมาใช้ นั่นก็คือ กลไกออโตเมติกแบบบัมป์เปอร์ (Bumper) พร้อมกลไกขอเกี่ยว (Hook mechanism) และระบบแฮ๊คเข็ม (Hacking second : เข็มวินาทีจะหยุดทำงานเมื่อตั้งเวลา) ตัวเรือนเหมือนจะไม่มีเม็ดมะยม (Crownless) เพราะเอาไปซ่อนอยู่บนฝาหลัง มีการจัดวางตำแหน่งบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกาและแสดงระดับพลังงานสำรองที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ด้วยการจัดวางตำแหน่งแบบนี้เมื่อประกอบกับที่ไม่มีเม็ดมะยมให้เห็น จึงทำให้หน้าตาของมันมีความสมมาตรอย่างที่สุด

 

2.JLC Broc cc

แผ่นพับโฆษณาจากยุค 1950’s

 

ปกตินาฬิกาขึ้นลานแบบออโตเมติกที่เราคุ้นเคยกันจะใช้โรเตอร์แบบหมุน 360 องศา แต่รุ่นนี้จะใช้โรเตอร์ไป/กลับแบบบัมป์เปอร์ (Bumper) ซึ่งเคลื่อนที่ไม่เกิน 190 องศา (แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะกลไกนาฬิกาข้อมือแบบออโตเมติกรุ่นแรกของโลกแบรนด์ Harwood ก็ใช้ หรือแม้แต่ Omega ก็นำแนวคิดแบบนี้มาใช้อยู่ช่วงหนึ่งเช่นกัน) ทำให้ Futurematic ต้องขึ้นลานโดยการเขย่าๆ เช้คๆ ให้โรเตอร์แกว่งไปมา (พอขยับข้อมือแล้วจะได้ยินเสียงโลหะกระทบกัน) เมื่อพลังงานเต็มแล้ว กลไกขอเกี่ยว (Hook mechanism) จะตกลงมาโดยอัตโนมัติเพื่อหยุดตุ้มเหวี่ยง ไม่ให้กระปุกลานได้รับความเสียหายจากการขึ้นลานมากเกินไป (Over winding)

 

3.JLCCAL497

กลไกของ Futurematic สังเกตว่ามีขอเกี่ยวอยู่บนโรเตอร์ด้านขวาบน

 

กลไกนี้สามารถสำรองพลังงานได้ถึง 40 ชั่วโมง และจะมีการสำรองพลังงานไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมงแม้ไม่มีการใช้งาน ดังนั้น ถ้าเราถอดเจ้า Futurematic ทิ้งเฉยๆ จนหยุดเดิน เมื่อหยิบขึ้นมาใส่อีกครั้ง นาฬิกาก็จะเริ่มเดินได้อย่างเที่ยงตรงทันทีเพราะมีพลังงานเก็บไว้อยู่แล้ว 6 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อรับประกันว่านอกจากกลไกจะมีพละกำลัง (Amplitude) มากพอให้เดินได้อย่างเที่ยงตรงเสมอแล้ว ยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ให้สามารถใช้ต่อทันทีเพียงแค่ตั้งเวลา โดยไม่ต้องเขย่าๆ ให้เมื่อยมือทุกครั้งไป


เม็ดมะยมที่ถูกนำไปซ่อนอยู่บนฝาหลังมีไว้สำหรับตั้งเวลาแต่เพียงอย่างเดียว ใช้ขึ้นลานไม่ได้ครับ แต่มาพร้อมระบบแฮ๊คเข็ม (Hacking second) ทำให้สามารถตั้งเวลาได้ตรงในระดับวินาที วิธีการใช้งานก็แปลกหน่อยคือต้องเลื่อน (สไลด์) เม็ดมะยมเข้าหาศูนย์กลางของตัวเรือนก่อนถึงจะตั้งเวลาได้ ถ้าเผลอไปดึงแรงๆ เหมือนที่พวกเราคุ้นชินกันก็อาจพังได้ ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาความงุนงงในการใช้งาน บนเม็ดมะยมจึงเขียนคำเตือนตัวเป้งๆ ไว้ด้วยว่า “SLIDE - DO NOT LIFT” คล้ายจะเป็นสโลแกนของนาฬิกาตัวนี้ไปเลยครับ

 

4.JLCCASEBACK

เม็ดมะยมพร้อมคำเตือน จาก http://www.carsandwatches.com

 

เจ้า Futurematic เกิดขึ้นมาในยุคที่การนำเข้านาฬิกาเข้าสู่ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐต้องเจอกำแพงภาษีสูงลิบ (ตาม Smoot–Hawley Tariff Act ไว้วันหลังจะมาเล่าโดยละเอียดนะครับ) ทำให้ JLC ต้องนำเข้ากลไกสำเร็จรูปจากสวิสเซอร์แลนด์มาประกอบกับตัวเรือนและหน้าปัดที่ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา และขายในนาม LeCoultre ดังนั้นนาฬิการุ่นนี้จึงมีหน้าตาที่หลากหลายมาก ตัวที่ขายในยุโรปกับตัวที่ขายในสหรัฐจะหน้าตาไม่เหมือนกัน และแม้กระทั่งตัวที่ขายในสหรัฐเองก็มีตัวเรือนและหน้าปัดหลากหลาย มีทั้งตัวเรือนทำด้วยเหล็ก ทองและทองชุบ ขนาดก็มีตั้งแต่ 35, 36 และ 37 มิลลิเมตร เราจึงจัดกลุ่ม Futurematic ออกเป็นสองกลุ่มตามกลไกเอาครับ นั่นก็คือ…

 

กลุ่ม E501 (Caliber 497 และ 827) : มีจุดสังเกตคือ นาฬิกากลุ่มนี้จะใช้ “เข็ม” บอกวินาทีและบอกจำนวนพลังงานสำรอง โดยกลไกของสองตัวนี้แทบไม่ต่างกัน (ยกเว้นคอยล์สปริง) จากข้อมูลระบุว่า JLC ผลิต Cal. 497 ระหว่างปี 1951-1958 มีจำนวนมากที่สุดนั่นคือ 52,500 ตัว ในขณะที่ Cal. 827 ผลิตระหว่างปี 1956-1958 มีจำนวนเพียง 1,000 ตัว

 

5.JLE5011

Futurematic E501 เวอร์ชั่นของยุโรป

 

6.JLE5012Futurematic E501 เวอร์ชั่นของอเมริกา

 

กลุ่ม E502 (Caliber 817 และ 837) : มีจุดสังเกตคือ นาฬิกากลุ่มนี้จะใช้ ”จาน” บอกวินาที (มีลูกศรทำหน้าที่เหมือนเข็ม) และพลังงานสำรอง ดังนั้นกลุ่มนี้หน้าปัดจะไม่มีวงวินาทีและวงบอกพลังงานสำรองขนาดใหญ่ เหมือนกลุ่มแรก มีเพียงหน้าต่างแสดงผลเล็กๆ สองบานที่หน้าตาคล้ายหน้าต่างของเรือ ทำให้ Futurematic กลุ่มนี้มีชื่อเล่นในหมู่นักสะสมว่า “Porthole” ซึ่งหมายถึงหน้าต่างของเรือนั่นเองและวิธีการระบุว่าเรือนไหนเป็น Cal. 817 หรือ Cal. 837 ก็จะสังเกตได้คร่าวๆ ที่จานบอกปริมาณพลังงานสำรอง เพราะถ้าเป็นเครื่อง Cal. 817 ส่วนใหญ่จะเป็นสีแดง/ขาว (พลังงานหมดเป็นสีแดง พลังงานเต็มจะเป็นสีขาว) ส่วน Cal. 837 จะเป็นสีดำ/ขาว (พลังงานหมดคือสีดำ แต่ Cal.817 จานสีดำ/ขาวก็มีนะ) ทั้งสองตัวผลิตระหว่างปี 1956-1958 โดย Cal. 817 มีจำนวน 3,000 ตัว และ Cal. 837 มีจำนวนน้อยที่สุดเพียง 500 ตัวเท่านั้น ด้วยความเก๋ของ E502 ประกอบกับที่มันหายาก จึงเป็นที่ใฝ่ฝันของนักสะสมครับ

 

7.JLE5021 cc

Futurematic E502 Cal. 817 รูปโดย CLAUDE JORAY PHOTOGRAPHER

 

8.JLE5022Futurematic E502 Cal. 837

 

อ่านเพลินๆ อาจเข้าใจว่ากลไกนี้เท่ห์มาก แต่ในความเป็นจริง การออกแบบให้ผู้ใช้ต้องเขย่าๆ ก็กลายเป็นการสร้างปัญหาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะสำหรับนาฬิกาแบบกลไก แรงกระแทกเป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาและมักทำให้กลไกเสียหายก่อนวัยอันควร สุดท้ายแนวคิดเรื่องโรเตอร์ขึ้นลานแบบบัมป์เปอร์ (Bumper) จึงมาถึงทางตัน และ JLC ก็ต้องเลิกผลิตไปในปี 1958 (โดยมีระยะเวลาการผลิตแค่ 7 ปี) แต่ความเท่ห์ของกลไกนี้ยังเป็นที่กล่าวขวัญมาถึงจนปัจจุบัน แม้กระทั่งผู้บริหารของ JLC เร็วๆ นี้ ยังพูดถึงว่าเป็นรุ่นที่อยากเอามาปัดฝุ่นทำ Re-Issue (อ้างอิงจาก https://www.watchtime.com/wristwatch-industry-news/people/talking-with-jaeger-lecoultre-director-of-heritage-rare-pieces-stephane-belmont/)

 

9.JLCPamp

ใบโฆษณา Futurematic ทั้งสองรุ่น

 

 

 Rittidej