The Review of MAURICE LACROIX Aikon Automatic Skeleton 45MM

ถ้าใครคิดว่าจะไม่ลองพิจารณานาฬิกาสปอร์ตในขนาดตัวเรือน 45 มิลลิเมตรเลย ก็อาจข้ามบทความนี้ไปเลยก็เป็นได้ เพียงแต่ต้องบอกก่อนว่าอาจพลาดฟิลลิ่งบางอย่าง ที่แม้นาฬิกาที่มีตัวเรือนขนาดใหญ่นี้แต่ยังสามารถสร้างสิ่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนหลายคนอาจบอกว่าพลาดสิ่งดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย!!! ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไม่อยากให้ทุกคนพลาดโอกาสได้เปิดใจมองสิ่งที่แตกต่างออกไปดูบ้าง

 

ML2

 

อย่างที่เกริ่นไว้ นาฬิกา MAURICE LACROIX Aikon รุ่นนี้มีขนาดตัวเรือน 45 มิลลิเมตรที่อาจใหญ่ในความรู้สึก แต่เมื่อวางบนข้อมือแล้วก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าใหญ่ถึงขนาด 45 มิลลิเมตรจริงๆ จากการที่หน้าปัดอยู่ในสไตล์และรูปแบบของสเกเลตัน ที่อาศัยชุดกลไกเป็นจุดดึงดูดความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเมนสปริงบาเรลขนาดใหญ่ที่ตำแหน่ง 1 นาฬิกา หรือพาเล็ทฟอร์คที่กวัดแกว่งอยู่ตลอดเวลาเมื่อกลไกทำงานที่ตำแหน่ง 7 นาฬิกา ก็ทำให้นาฬิกาเรือนนี้น่าสนใจในทันทีที่เห็น

 

22

 

แต่เบื้องลึกในสิ่งที่มองเห็นได้ทันทีเหล่านี้ ก็ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่นาฬิกาในระดับราคา 3 แสนบาทต้นๆ ทำได้ถึงขนาดนี้ อย่างเช่นชุดโครงของกลไกที่พาดผ่านชิ้นส่วนมากมาย และทำหน้าที่เพื่อให้ชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านั้นได้อยู่ในตำแหน่งต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยโครงของกลไกนี้ผ่านการเคลือบแบบดีแอลซีสีดำ เพื่อให้มีความแตกต่างจากชิ้นส่วนต่างๆ มากมายบนหน้าปัด

 

ML9

 

ทั้งยังมีการสร้าง “ขอบ” โครงของชุดกลไก ที่ยกระดับขอบของโครงเพื่อให้ชุดกลไกทั้งหมดดูน่าสนใจยิ่งขึ้น แม้ไม่ได้เตะตาทันทีที่เห็นแต่ก็เป็นรายละเอียดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้นาฬิกากลไกสเกเลตันนี้ดูพิเศษยิ่งขึ้นไปอีก โดยยังไม่รวมถึงการขัดแต่งขอบชิ้นส่วนต่างๆ แทบจะทั้งหมด เพื่อให้กลไกชุดนี้เป็นกลไกแบบสเกเลตันที่สมบูรณ์แบบชุดหนึ่ง โดยยังคงการทำงานของกลไกทุกอย่างไว้อย่างครบถ้วน

 

88

 

จุดต่อมาคืออีกหนึ่งในรายละเอียด นั่นก็คือกระจกแซฟไฟร์แบบสองชั้น โดยชั้นในเป็นชิ้นที่รับหน้าที่ในการเป็นแผ่นรองรับชุดแสดงเวลาทั้งหมด ตั้งแต่เข็มทั้งสาม มาร์กเกอร์ทั้ง 12 รวมไปถึงการพิมพ์ตราสัญลักษณ์และชื่อแบรนด์ MAURICE LACROIX บนแผ่นกระจกแซฟไฟร์นี้ โดยไม่ทำให้ความเป็นนาฬิกาแบบสเกเลตันลดน้อยลงแต่อย่างใด พร้อมกับความเรียบเนียนที่ถ้าไม่สังเกตอาจไม่คิดว่ามีกระจกแซฟไฟร์ซ้อนกันอยู่

 

 

 

507164

 

 

 

หันกลับมาดูด้านหลัง ชุดโครงของกลไกก็ยังคงความงดงามเช่นกัน พร้อมการขัดแต่งขอบโครงของกลไกแผ่นหลังที่เป็นเพียงโรเดียมเพลท ไม่ใช่การเคลือบดีแอลซีสีดำแบบด้านหน้า เนื่องจากต้องการให้เป็นสไตล์แบบการแสดงการทำงานของกลไกโดยทั่วไป แต่ยกระดับการขัดแต่งของขอบเจเวล ให้มีความหนา โดดเด่น และเงางามมากขึ้น พร้อมกับโรเตอร์ที่มีการเจาะโปร่ง เพื่อเติมเต็มสไตล์ของนาฬิกาแบบสเกเลตัน

 

IMG 8190

 

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อย่างครบถ้วนตามสไตล์ของนาฬิการุ่น Aikon ไม่ว่าจะเป็นระบบอีซี่เอ็กซ์เชนจ์ที่ยังคงตราสัญลักษณ์ M อยู่บนหมุดด้านหลังที่ใช้ปลดล็อคของชุดสาย ซึ่งรวมไปถึงตราสัญลักษณ์ M ของแบรนด์ที่ประทับอยู่บนสายนาฬิกาในตำแหน่ง 6 นาฬิกาด้วยความโดดเด่นเช่นเดิม พร้อมกับอาร์มคู่ทั้ง 6 รอบขอบตัวเรือนอันเป็นสัญลักษณ์ของนาฬิการุ่นAikon

 

IMG 8195

 

ทำงานด้วยกลไกอินเฮ้าส์อัตโนมัติคาลิเบอร์ ML234 ที่ความถี่ 18,000 รอบต่อชั่วโมง (2.5 เฮริท์ซ) ให้พลังสำรองลานนาน 52 ชั่วโมง พร้อมการขัดแต่งลายโคลิเมซงและขัดลายด้านบนชุดโครงของกลไก รวมทั้งโรเดียมเพลทขัดลายโคลิเมซงบนบริจด์ต่างๆ ในขณะที่โรเตอร์จะเป็นการขัดแต่งลายตั้ง ขัดลายด้าน และโคลิเมซง ผนวกรวมเข้าด้วยกันเพื่อให้มีความสวยงามมากที่สุด

 

ML4

 

สุดท้ายที่ต้องยกนิ้วให้คือความเป็นนาฬิกากลไกแบบสเกเลตัน ที่ผลิตขึ้นเองในโรงงานของ MAURICE LACROIX ในสนนราคาระดับที่ไม่มีแบรนด์นาฬิกาอื่นใดจะเทียบเคียงได้ พร้อมความสะดวกสบายในการสวมใส่แม้ในขนาดตัวเรือน 45 มิลลิเมตร ซึ่งหากได้ลองแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ นาฬิกาเรือนนี้ก็จะกลายเป็นนาฬิกาเรือนโปรดของทุกคนได้อย่างไม่ยากเย็น