รวมผลงานนาฬิกา (ข้อมือ) ตลอดปี 2016 จากแบรนด์นาฬิกาล้ำจินตนาการ MB&F

เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่ Mr. Maximilian Büsser (หรือเรียกกันง่ายๆ ว่าคุณ Max (แม็กซ์)) ได้ริเริ่มก่อร่างสร้างแบรนด์ MB&F ขึ้นมาด้วยแนวคิดที่แปลกใหม่ โดยตั้งใจให้เป็นแบรนด์ที่รังสรรค์ผลงานศิลปะจักรกลขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอันเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ MB&F (เอ็มบี แอนด์ เอฟ) ที่ย่อมาจาก Maximilian Büsser & Friends (แม็กซิมิเลียน บุซเซอร์ แอนด์ เฟรนด์ส) โดยมีคอนเซ็ปต์ที่ Mr. Max วางไว้เป็นโจทย์ให้ช่วยกันพิชิตซึ่งทุกผลงานที่พวกเขาได้สร้างขึ้นล้วนประสบความสำเร็จทั้งในด้านรางวัล เกียรติยศ ตลอดจนด้านยอดขายอย่างน่าชื่นชม

Maximilian BÅsser 2 CMYK

Mr. Maximilian Büsser

 

นับจากริเริ่มก่อตั้งแบรนด์ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2005 Max ได้นำพาองค์กรของเขาก้าวข้ามขีดจำกัดและอุปสรรคนานัปการที่เกิดขึ้นระหว่างทางจนบรรลุสู่จุดหมายปลายทางได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เริ่มจากนาฬิกาข้อมือรุ่นแรก HM1 (เอชเอ็มวัน) เมื่อปี 2007 จนมาวางหลักเบิร์ธเดย์ 10 ปีด้วยนาฬิกาข้อมือรุ่น HMX (เอชเอ็มเอ็กซ์) ที่เปิดตัวเมื่อปี 2015 (เอ็กซ์ ในที่นี้ไม่ใช่หมายเลขสิบหรือลำดับที่สิบ แต่หมายถึงการฉลองครบทศวรรษของการก่อตั้งแบรนด์) และก็ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยนอกจากนาฬิกาข้อมือแล้วก็ยังมีการสร้างสรรค์ผลงานประเภทอื่นๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น บรรดานาฬิกาตั้งโต๊ะรูปทรงล้ำจินตนาการ กล่องดนตรี และปากกา เป็นต้น

 

จนถึงวันนี้ MB&F ได้สร้างผลงานนาฬิกาข้อมือออกมา 2 รูปแบบ คือ HM (เอชเอ็ม ซึ่งย่อมาจาก Horological Machine (โอโรโลจิคอล แมชชีน)) ซึ่งเป็นนาฬิกาดีไซน์อิสระตามแต่จินตนาการ และ LM (แอลเอ็ม ซึ่งย่อมาจาก Legacy Machine (เลกาซี แมชีน)) อันเป็นดีไซน์คลาสสิกที่ยึดรูปแบบการผลิตนาฬิกาตามประเพณีดั้งเดิมเป็นแนวทาง โดยนาฬิกาทุกรุ่นทุกแบบได้ถูกสอดแทรกระบบคอมพลิเคชั่นกลไกที่มีความซับซ้อนในลักษณะต่างๆ กันเข้าไว้อย่างกลมกลืน จนอาจกล่าวได้ว่ามันมิใช่เป็นเพียงนาฬิกา แต่มันเป็นศิลปะวัตถุสมัยใหม่ที่สามารถบอกเวลาได้

 

ธรรมเนียมปฏิบัติอีกอย่างของ MB&F ก็คือ ผลงานแต่ละรุ่นแต่ละแบบที่ผลิตออกมาล้วนเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดทั้งสิ้น โดยแต่ละรุ่นก็มักจะมีเวอร์ชั่นต่างๆ ผลิตออกมาเพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ใช้วัสดุหรือสีสันที่ต่างออกไป และก็มีแบบที่มอบหมายให้ศิลปินหรือผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ มาร่วมออกแบบการตกแต่งให้มีรูปแบบเฉพาะรุ่น ผลงานแต่ละรุ่นแต่ละแบบของ MB&F จึงมีความพิเศษในรูปแบบเฉพาะตัวดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

 

จักรกลศิลป์ที่ปรากฎอยู่ในบทความนี้ล้วนเป็นผลงานนาฬิกาข้อมือจาก MB&F ที่ถูกเปิดตัวออกมาในปี 2016 โดยมีทั้งรุ่น HM8 Can-Am (เอชเอ็มเอ้กท์ แคน-แอม) หมายเลข 8 แห่งตระกูล HM, รุ่น HM6 SV (เอชเอ็มซิกซ์ เอสวี) ที่เป็นการนำเอากระจกแซฟไฟร์ใสมาผนึกเป็นตัวเรือนชิ้นหน้าและชิ้นหลังของนาฬิกา HM6 เพื่อเผยให้เห็นกลไกอันน่าทึ่งได้อย่างเต็มตา ต่อด้วยรุ่น LM1 Silberstein (แอลเอ็มวัน ซิลเบอร์สไตน์) ที่นำเอานาฬิการุ่น LM1 เจ้าของรางวัลมหาชนและรางวัลนาฬิกาบุรุษยอดเยี่ยมประจำปี 2012 จาก GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) มาตกแต่งเป็นนาฬิกาเอดิชั่นใหม่ของซีรี่ส์ เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต โดยได้ Mr. Alain Silberstein (อแลง ซิลเบอร์สไตน์) นักออกแบบนาฬิกาชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังมารังสรรค์การตกแต่งด้วยรูปแบบและสีสันอันเป็นซิกเนเจอร์ของเขา และ HMX Black Badger (เอชเอ็มเอ็กซ์ แบล็ค แบดเจอร์) เอดิชั่นใหม่ของนาฬิการุ่น HMX ที่ได้ Black Badger Advanced Composites ผู้ผลิตเครื่องประดับจากสวีเดนที่โดดเด่นด้วยการใช้ชิ้นวัสดุเรืองแสง มาออกแบบการตกแต่งให้นาฬิกามีแสงเรื่อเรืองในตนเอง

 

HM8 Can-Am

 

HM8 Can-Am เรือนเวลาข้อมือดีไซน์ล้ำจินตนาการลำดับที่ 8 จากตระกูล Horological Machine เผยโฉมสู่สายตาชาวโลกในเดือนกันยายน 2016 ด้วยรูปโฉมที่เหมือนเป็นการนำลักษณะเด่นของรูปทรงอุดมเหลี่ยมมุมของตัวเรือนและแท่งปริซึมสำหรับแสดงเวลาจาก HM5 กับ HMX และการจัดวางโรเตอร์รูปทรงขวานศึกอยู่ด้านบนของเรือนจาก HM3 มาคลุกเคล้ากับดีไซน์ของเหล่ารถแข่งพลังสูงที่สร้างขึ้นสำหรับการแข่งขัน Can-Am (แคน-แอม หรือชื่อเต็มๆ ว่า Canadian-American Challenge Cup) ตำนานการแข่งรถซูเปอร์คาร์ที่เคยจัดขึ้นในช่วงปี 1966-1987 จนคลอดออกมาเป็นนาฬิกาบอกเวลาดีไซน์เท่ที่เปี่ยมด้วยบุคลิกเฉพาะตัวสมฐานะทายาทคนใหม่แห่งตระกูล Horological Machine

 

HM8 WT Front preview 1

HM8 Can-Am WT

 

HM8 WT Rear preview

 

ไม่ว่าใครที่ได้เห็น HM8 Can-Am ก็ต้องสะดุดตากับตัวเรือนที่ผสานความโค้งสะโอดสะองเข้ากับเหลี่ยมมุมได้อย่างน่ามอง ร่วมด้วยท่อนไทเทเนี่ยมตันสีเงินขัดเงาวาวที่คล้ายกับโรลล์บาร์ของรถแข่งพาดข้ามจากด้านหน้าสู่ด้านท้ายอยู่เหนือชิ้นตัวเรือนที่มีโรเตอร์ทรงขวานศึกติดตั้งอยู่ทางด้านบนซึ่งมองเห็นได้ชัดๆ ผ่านกระจกแซฟไฟร์พร้อมกับความงานของงานขัดแต่งลายเซอร์คูล่าร์เวฟบนตัวกลไกที่อยู่ด้านใน ขณะที่การบอกเวลานั้นจะกระทำด้วยจานดิสก์ชั่วโมงที่เคลื่อนขยับแบบจัมปิ้งกับจานดิสก์นาทีซึ่งติดตั้งในแนวระนาบวางตัวซ้อนเหลื่อมกันอยู่บริเวณมุมซ้ายและมุมขวาโดยสะท้อนตัวเลขเป็นแนวตั้งพร้อมขยายให้ใหญ่ขึ้นอีก 20% สู่สายตาทางด้านหน้าภายใต้กระจกแซฟไฟร์ทรงโค้งลู่ไปตามรูปทรงของตัวเรือนโดยแยกแสดงชั่วโมงและนาทีผ่านแท่งปริซึมแซฟไฟร์คริสตัลพร้อมเลนส์ขยาย 2 ชิ้น โดยตัวเลขบนจานดิสก์นั้นถูกเคลือบด้วยสารเรืองแสงซูเปอร์-ลูมิโนว่า เพื่อเพิ่มความชัดเจนในสภาพแสงน้อย ตำแหน่งแสดงค่าเวลาในลักษณะนี้เป็นคอนเซ็ปต์การออกแบบจากยุคอดีตที่มีเป้าประสงค์ให้ชำเลืองอ่านค่าได้อย่างชัดเจนขณะที่ผู้สวมใส่จับพวงมาลัยอยู่โดยไม่ต้องขยับข้อมือเพื่อดูเวลา หมายความว่ามันเป็นลักษณะนาฬิกาที่ถูกออกแบบมาสำหรับนักขับโดยเฉพาะ ทั้งยังแสดงถึงตัวตนในวัยเยาว์ของ Max ซึ่งเคยฝันจะเป็นนักออกแบบรถอีกด้วย

 

MBandF HM8 Can Am 31

 

HM8 WT Rear preview

 

 

HM8 RT Back preview

 

 

HM8 RT Front preview 11

 

รายละเอียดทางเทคนิคของ HM8 Can-Am

ตัวเรือน: ไวท์โกลด์ 18 เค ร่วมกับไทเทเนี่ยม / เร้ดโกลด์ 18 เค ร่วมกับไทเทเนี่ยม
ขนาดตัวเรือน: ความกว้าง 49 มม., ความยาว 51.5 มม., ความหนา 19 มม.
กระจก: แซฟไฟร์คริสตัล เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน
กลไก: อัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ของ Girard-Perregaux ปรับแต่งและติดตั้งโมดูลแสดงผลที่ออกแบบและพัฒนาโดย MB&F, โรเตอร์รูปทรงขวานศึกทำจากทองคำ 22 กะรัต
ฟังก์ชั่น: แสดงชั่วโมงด้วยจานดิสก์เคลื่อนที่แบบจัมปิ้ง แสดงนาทีด้วยจานดิสก์ สามารถปรับตั้งเวลาได้ทั้งไปข้างหน้าและย้อนกลับ
สาย: หนังจระเข้สีน้ำเงินเข้ม / สายหนังจระเข้สีน้ำตาลเข้ม

 

 

HM6-SV

 

นี่คือเอดิชั่นใหม่ของนาฬิกา HM6 โดยอักษรย่อ ‘SV’ ที่เพิ่มต่อท้ายรหัสรุ่นเข้าไปนั้น ย่อมาจาก ‘Sapphire Vision’ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงลักษณะเด่นประจำรุ่นที่พร้อมจะเผยความน่าทึ่งของจักรกลสุดล้ำลึกให้ประจักษ์สู่สายตาผ่านแผ่นกระจกแซฟไฟร์ใสซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเรือนชิ้นหน้าและชิ้นหลัง รูปแบบเช่นนี้ถ่ายทอดมาจากความคิดของ Mr. Max ที่ว่า ส่วนที่งดงามที่สุดของนาฬิกา HM6 ก็คือ กลไกของมัน ดังนั้นเมื่อเทคโนโลยีในการผลิตแซฟไฟร์คริสตัลในปัจจุบันได้ก้าวหน้ามาถึงระดับที่สามารถผลิตเป็นรูปทรงที่ต้องการได้แล้ว เขาจึงไม่รอช้าที่จะสร้าง HM6 เอดิชั่นนี้ขึ้นมา

 

HM6 SV Face RG CMYK

HM6-SV Red

 

รูปแบบการแสดงค่าของกลไกชุดนี้ ยังคงเป็นเช่นเดียวกับ HM6 เอดิชั่นแรกที่มีชื่อเรียกว่า ‘Space Pirate’ นั่นก็คือ การแสดงชั่วโมงกับนาทีด้วยโดมโค้งคนละชุดซึ่งหมุนในแนวตั้ง และขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากการขึ้นลานแบบอัตโนมัติด้วยโรเตอร์ที่อยู่ด้านหลังของกลไกโดยทำงานร่วมกับเทอร์ไบน์ทรงกลม 1 คู่ ที่หมุนวนในแนวนอน ซึ่งจะคอยควบคุมระดับการแกว่งของโรเตอร์ให้เหมาะสมกับสภาวะการใช้งานโดยอัตโนมัติ ทั้งยังเป็นกลไกที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงแม่นยำจากการควบคุมของตูร์บิยองแบบฟลายอิ้ง ที่ติดตั้งอยู่กึ่งกลางทางฝั่งด้านหน้าของกลไก โดยมีการออกแบบแผ่นม่านไทเทเนี่ยมทรงโค้งที่สามารถเลื่อนเปิด/ปิดได้ด้วยการหมุนเม็ดมะยมทางฝั่งซ้ายของตัวเรือน ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ทางเทคนิค อันเป็นการป้องกันมิให้รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต มาทำให้น้ำมันหล่อลื่นในชุดจักรกลตูร์บิยองเสื่อมสภาพเร็วแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางด้านความสวยงามอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นการแสดงถึงความเหนือชั้นทางด้านจินตนาการและการออกแบบอีกด้วย

 

HM6 SV CloseUp Tourbillon CMYK

 

 

HM6 SV Back RG CMYK

 

HM6 SV Front RG CMYK

 

 

แม้กลไกจะไม่แตกต่างกับ HM6 เอดิชั่นแรก แต่เมื่อพิจารณาจากรูปลักษณ์แล้ว ต้องบอกว่า HM6-SV นั้นให้อารมณ์ที่ต่างออกไปมากเลยทีเดียว เพราะเปลี่ยนจากลักษณะตัวเรือนแบบมิดชิดที่เต็มไปด้วยส่วนโค้งส่วนเว้าของเวอร์ชั่น ‘Space Pirate’ มาเป็นแบบอุดมเหลี่ยมเส้นสันร่วมกับแผ่นกระจกโปร่งใสผสานโดมกระจกโค้งละมุนที่เผยให้มองเห็นกลไกกันชัดๆ

 

HM6 SV Front PT CMYK

HM6-SV Platinum

 

ดีไซน์ตัวเรือนชิ้นกลางที่มีลักษณะเป็นเส้นสันนั้นได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากตัวถังของรถบัส เกรย์ฮาวด์ สตรีมไลเนอร์ สมัยยุคทศวรรษที่ 1950-1960 อันเป็นดีไซน์แนว อาร์ต เดโค ที่เรียกว่า สตรีมไลน์ โมเดิร์น ชิ้นตัวเรือนนี้ถูกประกบด้านหน้าและด้านหลังในลักษณะของแซนด์วิชด้วยแผ่นกระจกแซฟไฟร์ใสที่ผนึกโดมกระเปาะโค้งนูนไว้ถึง 9 โดมด้วยกัน (หน้า 5 หลัง 4) ตามตำแหน่งการแสดงค่า ชุดเทอร์ไบน์ และกลไกชัตเตอร์ม่านกล ส่วนเส้นแถบสีฟ้าที่อยู่บริเวณขอบกระจกก็คือ ซีลกันน้ำนั่นเอง

 

HM6 SV Profile PT CMYK

 

 

จำนวนการผลิตของ HM6-SV ถูกกำหนดเอาไว้ที่ 20 เรือนเท่านั้น โดยแบ่งเป็นแบบ HM6-SV Platinum ที่ใช้ตัวเรือนชิ้นกลางทำจากวัสดุแพลตินั่ม 10 เรือน และแบบ HM6-SV Red ที่ใช้ตัวเรือนชิ้นกลางทำจากวัสดุเร้ดโกลด์ อีก 10 เรือน

 

รายละเอียดทางเทคนิคของ HM6-SV
ตัวเรือน: โครงสร้างแบบแซนด์วิช ประกอบด้วยแผ่นกระจกแซฟไฟร์ใส 2 แผ่น (พร้อมติดตั้งโดมกระจกแซฟไฟร์บนแผ่นกระจก) ประกบลงบนตัวเรือนชิ้นกลางวัสดุแพลตินั่ม (เอดิชั่น HM6-SV Platinum) หรือวัสดุเร้ดโกลด์ (เอดิชั่น HM6-SV Red)
จำนวนการผลิต: เอดิชั่นละ 10 เรือน ขนาดตัวเรือน: 51 x 50 x 22.7 มม.
กลไก: อัตโนมัติ ตูร์บิยองแบบฟลายอิ้ง ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง พร้อมระบบเทอร์ไบน์คู่ ควบคุมอัตราการแกว่งของโรเตอร์ให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ เทอร์ไบน์ผลิตจากอลูมิเนียม เป็นกลไกที่พัฒนาโดย MB&F ร่วมกับ David Candaux Horlogerie Créative
ฟังก์ชั่น: แสดงชั่วโมงกับนาทีบนโดมโค้งวัสดุอลูมิเนียมคนละชุด, โดมม่านไทเทเนี่ยมบริเวณโดมเหนือชุดตูร์บิยอง เปิด/ปิด ด้วยเม็ดมะยมทางฝั่งซ้าย
สาย: หนังจระเข้สีดำ / หนังจระเข้สีน้ำตาลเข้ม พร้อมตัวล็อคแบบบานพับวัสดุเดียวกับตัวเรือนชิ้นกลาง

 

 

LM1 Silberstein

 

สำหรับคนรักนาฬิกาที่สนใจงานด้านการออกแบบแล้ว น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักผลงานของมัณฑนากรชาวฝรั่งเศสผู้ผันตัวมาเป็นนักออกแบบนาฬิกา Mr. Alain Silberstein (อแลง ซิลเบอร์สไตน์) ซึ่งโดดเด่นด้วยรูปแบบที่มีความเป็นตัวเองสูงมากๆ โดยเฉพาะการปรากฎของสามรูปทรงเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม และแม่สีทั้งสาม แดง น้ำเงิน เหลือง อันเป็นเสมือนลายเซ็นของเขา

 

Alain Silberstein CMYK

Mr. Alain Silberstein

 

สำหรับ MB&F นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการเชิญ Alain Silberstein มารังสรรค์การตกแต่งบนนาฬิกา MB&F เพราะเมื่อครั้งเริ่มต้นสร้างสรรค์นาฬิกาซีรี่ส์ ‘เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต’ ซึ่งเป็นการเชิญศิลปินและนักออกแบบที่มีชื่อเสียงมาออกแบบตกแต่งนาฬิกา MB&F รุ่นต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานชิ้นพิเศษ Mr. Alain ก็คือนักออกแบบท่านแรกที่มาร่วมสร้างผลงานในซีรี่ส์นี้ ซึ่งก็คือนาฬิกา HM2.2 ‘Black Box’ ที่ออกมาเมื่อปี 2009

 

LM1 Silberstein RG Profile Hres CMYK

LM1 Silberstein RG

 

ในปี 2016 ผลงานการออกแบบตกแต่งชิ้นใหม่ของ Mr. Alain บนนาฬิกาซีรี่ส์ ‘เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต’ ของ MB&F ก็เผยโฉมออกมาอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการรังสรรค์ให้นาฬิกาสไตล์คลาสสิกรุ่น LM1 มีเสน่ห์ดึงดูดสายตาในสไตล์ของ Mr. Alain พร้อมสลักข้อความสุดแนวจากถ้อยคำของ Gustave Flaubert นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เอาไว้บนตัวเรือน โดยเป็นข้อความในภาษาฝรั่งเศสว่า “Le vrai Bonheur est d’avoir sa passion pour métier” (แปลความได้ว่า การได้ทำงานที่คุณรัก คือความสุขอันจริงแท้) อันเป็นข้อความที่มีความหมายกับทั้ง Mr. Alain และ Mr. Max เนื่องด้วยเขาทั้งคู่กล้าทิ้งความมั่นคงในหน้าที่การงานเพื่อลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

 

LM1 Silberstein Black Ti Profile Hres CMYK

 

 

LM1 Silberstein Black Ti Face Hres CMYK

LM1 Silberstein Black

 

ความเฉียบขาดของดีไซน์ที่ Mr. Alain บรรจงแต่งแต้มบนนาฬิกา LM1 ก็คือ การนำเรขาคณิต 3 ทรง สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และทรงกลม ร่วมกับแม่สีทั้งสาม (แดง ฟ้า เหลือง) ตลอดจนการใช้พื้นผิวแบบด้านเป็นพื้นหลังเพื่อขับเน้นพื้นผิวแบบมันเงา อันเป็นซิกเนเจอร์การออกแบบของเขา มาใช้กับเข็มและการตกแต่งบนหน้าปัด ร่วมด้วยการออกแบบแท่งแสดงกำลังสำรองให้ประกอบขึ้นจากกรวยสีฟ้า กล่องสีแดง และลูกกลมสีเหลือง ทั้งยังปรับเปลี่ยนวงหน้าปัดแสดงเวลาจากทรงโค้งนูนมาเป็นทรงเว้าเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ “อีเทอร์นัล ไทม์” ที่เขาวางไว้ ซึ่งเป็นการรวมเวลาอันเป็นนิรันดร์แห่งจักรวาลมาสู่กลไกของนาฬิกา นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนวัสดุของท่อนบริดจ์ยึดบาลานซ์จากท่อนบริดจ์แบบซุ้มโค้ง มาเป็นบริดจ์แซฟไฟร์คริสตัลใส เพื่อให้มองเห็นชุดบาลานซ์ได้อย่างเต็มที่ราวกับปราศจากชิ้นส่วนใดมาบดบัง อีกทั้งเม็ดมะยมทั้ง 2 ชิ้นยังถูกออกแบบใหม่ให้เป็นสไตล์ของ Mr. Alain ด้วย โดยปรากฎเป็นรูปทรงดาวหกแฉกที่ประกอบรวมขึ้นจากรูปสามเหลี่ยมปลายมน 2 ชิ้น พร้อมรูปสัญลักษณ์ขวานศึกของ MB&F

 

สำหรับคุณสมบัติทางเทคนิคอื่นๆ ยังคงเป็นเช่นเดียวกับนาฬิกา LM1 เอดิชั่นปกติ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของตัวเรือนตลอดจนรายละเอียดของกลไก นาฬิกา LM1 Silberstein (แอลเอ็มวัน ซิลเบอร์สไตน์) ถูกผลิตขึ้นมา 3 เอดิชั่นด้วยกัน คือ เอดิชั่น RG ตัวเรือนเร้ดโกลด์ เอดิชั่น Black ตัวเรือนไทเทเนี่ยมเคลือบพีวีดีสีดำ และเอดิชั่น TI ตัวเรือนไทเทเนี่ยม โดยเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงเอดิชั่นละ 12 เรือน

 

LM1 Silberstein Ti Hres CMYK

 

 

LM1 Silberstein Ti Face Hres CMYK

LM1 Silberstein TI

 

กลไกของ LM1 เป็นกลไกไขลานโครงสร้างสามมิติที่พัฒนาขึ้นจากแบบร่างของ Max โดยฝีมือของ Jean-François Mojon และทีมงานของเขาที่ Chronode และร่วมขัดเกลาให้มีความสละสลวยงดงามตามแบบฉบับนาฬิกาคลาสสิกโดย Kari Voutilainen ช่างนาฬิการะดับยอดฝีมือของโลก บาลานซ์วีลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 14 มิลลิเมตร เป็นการออกแบบให้แขวนลอยอยู่เหนือกลไกและหน้าปัดเพื่อแสดงให้เห็นการทำงานอย่างชัดเจนเปรียบเสมือนให้มองเห็นการเต้นของหัวใจ การแสดงเวลาถูกออกแบบให้แสดงค่าได้ 2 ไทม์โซน ด้วยเข็มชั่วโมงกับนาที 2 ชุดบน 2 หน้าปัด ที่แยกการปรับตั้งได้โดยอิสระด้วยเม็ดมะยมคนละชุด แต่ควบคุมการทำงานด้วยเรกูเลเตอร์ (บาลานซ์และเอสเคปเม้นท์) ชุดเดียวกัน พร้อมฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรองด้วยชุดแสดงค่าแบบแนวดิ่ง

 

รายละเอียดทางเทคนิคของ LM1 Silberstein

ตัวเรือน: เอดิชั่น RG วัสดุเร้ดโกลด์ 18 เค / เอดิชั่น Black วัสดุไทเทเนี่ยม เกรด 5 เคลือบพีวีดีสีดำ / เอดิชั่น TI วัสดุไทเทเนี่ยม เกรด 5
จำนวนการผลิต: เอดิชั่นละ 12 เรือน
ขนาดตัวเรือน: ความกว้าง 42.5 มม., ความหนา 17 มม.
กระจกหน้าปัด: ด้านหน้า – แซฟไฟร์คริสตัลทรงโดม, ด้านหลัง – แซฟไฟร์คริสตัล, ทั้ง 2 ชิ้นเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน
กลไก: ไขลาน ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 45 ชั่วโมง ขึ้นลานด้วยเม็ดมะยมตำแหน่ง 4 นาฬิกา พัฒนาสำหรับ MB&F โดยเฉพาะ ท่อนบริดจ์ยึดบาลานซ์วีลทำจากแซฟไฟร์คริสตัลใส
ฟังก์ชั่น: ดูอัลไทม์ แสดงเวลา 2 ไทม์โซน ด้วยเข็มชั่วโมงกับนาที 2 ชุด บน 2 หน้าปัด ตั้งค่าแยกกันโดยอิสระด้วยเม็ดมะยมคนละชุด, แสดงกำลังสำรองด้วยชุดแสดงค่าแบบแนวดิ่ง
สาย: หนังวัวสีดำ เย็บตกแต่งด้วยด้ายสีดำสำหรับเวอร์ชั่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ / เย็บตกแต่งด้วยด้ายสีแดงสำหรับเวอร์ชั่นตัวเรือนไทเทเนี่ยมทั้ง 2 แบบ

 

 

HMX Black Badger

 

งานสร้างสรรค์จากซีรี่ส์นาฬิกา ‘เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต’ แต่ละรุ่นแต่ละแบบมักจะได้ศิลปินหรือนักออกแบบท่านต่างๆ มาร่วมแสดงฝีมือผ่านรูปแบบการตกแต่งบนนาฬิกา และซีรี่ส์ ‘เพอร์ฟอร์มานซ์ อาร์ต’ รุ่น Black Badger ที่ออกมาในปี 2016 ก็เช่นกัน หากแต่รูปแบบการตกแต่งนั้นมิใช่การออกแบบรูปทรงหรือลวดลายให้มีความพิเศษ เพราะความงามและความต่างในครั้งนี้อยู่ที่ความพิเศษของชิ้นวัสดุตกแต่งที่สามารถเปล่งแสงเรื่อเรืองได้ด้วยตัวเองซึ่งเป็นผลงานของ Mr. James Thompson นักออกแบบอุตสาหกรรมชาวแคนาดา ผู้ก่อตั้ง Black Badger Advanced Composites สตูดิโอสร้างสรรค์เครื่องประดับสุดล้ำที่ประกอบขึ้นจากวัสดุสมัยใหม่ อย่าง ก้อนเรืองแสง คาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนี่ยม โดย MB&F ได้เลือกนาฬิกา 2 แบบให้ James ร่วมสร้างงานตกแต่ง นั่นก็คือ นาฬิกาข้อมือรุ่น HMX และนาฬิกาตั้งโต๊ะดีไซน์ดุจยานอวกาศ Starfleet Machine

 

James Thompson credit Zebastian Johansson CMYK

Mr. James Thompson ผู้ก่อตั้ง Black Badger Advanced Composites (ภาพโดย Zebastian Johansson)

 

HMX BB Top Night trio Hres CMYK

 

 

HMX BB Face Night Green Hres CMYK

 

 

HMX BB Back Hres CMYK

 

HMX Black Badger เป็นการนำนาฬิกา HMX ซึ่งเป็นรุ่นที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2015 ในฐานะนาฬิกาฉลองวาระครบ 10 ปีของการก่อตั้งแบรนด์ อันเป็นนาฬิกากลไกอัตโนมัติที่แสดงเวลาด้วยจานแสดงชั่วโมงเคลื่อนที่แบบจัมปิ้งร่วมกับจานแสดงนาทีสะท้อนตัวเลขผ่านปริซึมแซฟไฟร์คริสตัล 2 ชิ้นพร้อมเลนส์ขยายไปปรากฎให้อ่านค่าผ่านกระจกทางด้านล่างของตัวเรือน มาตกแต่งด้วยวิถีของ Black Badger โดย Mr. James ได้ทำการออกแบบชิ้นฝาครอบเครื่องขึ้นมาใหม่โดยสร้างขึ้นด้วยก้อนเรืองแสงที่ให้สีสันสดใส ซึ่งสามารถมองเห็นได้ผ่านกระจกแซฟไฟร์คริสตัลบานใหญ่คล้ายกับฝากระโปรงห้องเครื่องยนต์ของรถซูเปอร์คาร์ ผลิตออกมาทั้งหมด 3 เอดิชั่นด้วยกัน โดยแตกต่างกันที่สีของก้อนเรืองแสง ได้แก่ เอดิชั่น Radar Green สีเขียวเรดาร์, เอดิชั่น Phantom Blue สีฟ้าแฟนธ่อม และเอดิชั่น Purple Reign สีม่วงเรจ์น ซึ่งช่วยเพิ่มสีสันสวยงามแบบล้ำๆ ให้กับนาฬิกาได้เป็นอย่างดี

 

HMX BB Engine Purple Night Hres CMYK

 

รายละเอียดทางเทคนิคของ HMX Black Badger

ตัวเรือน: ไทเทเนี่ยม เกรด 5 ร่วมกับสเตนเลสสตีล ขนาด 46.8 x 44.3 x 20.7 มม.
กระจก: แซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน มีทั้งหมด 3 ชิ้น คือ ชิ้นด้านบน ชิ้นด้านล่าง และชิ้นด้านหลัง
จำนวนการผลิต: 3 เอดิชั่น (เอดิชั่น Radar Green ฝาครอบเครื่องเป็นวัสดุเรืองแสงสีเขียว, เอดิชั่น Phantom Blue ฝาครอบเครื่องเป็นวัสดุเรืองแสงสีฟ้า และเอดิชั่น Purple Reign ฝาครอบเครื่องเป็นวัสดุเรืองแสงสีม่วง) เอดิชั่นละ 18 เรือน
กลไก: อัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ขึ้นลานด้วยโรเตอร์วัสดุทองคำ 22 เค ชุดเกียร์เทรนเป็นของ Sellita ติดตั้งโมดูลแสดงเวลาที่พัฒนาขึ้นโดย MB&F
ฟังก์ชั่น: แสดงชั่วโมงด้วยจานดิสก์ขยับแบบจัมปิ้ง แสดงนาทีด้วยจานนาที ปรับตั้งเวลาได้ทั้งไปข้างหน้าและย้อนกลับ 
สาย: หนังวัวฉลุรู ตกแต่งพื้นผิวด้านในของสายด้วยวัสดุสีแม็ตช์กับสีฝาครอบเครื่อง

 

 

ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย: พี เอ็ม ที เดอะ อาวร์ กลาส
สาขาสยามพารากอน โทร. 02 129 4777 , สาขาเกษร โทร. 02 656 1212

 

By Viracharn T.