ENAMELING

By Dr. Attawoot Papangkorn

  

หน้าปัดนาฬิกาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมีราคาถูกหรือแพง ก็มักจะมีกระบวนการผลิตที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ เริ่มต้นจากแผ่นโลหะดิบ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบราส (ทองแดง) จากนั้นแผ่นโลหะนั้นจะผ่านกระบวนการตัด เจาะ กลึง และเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย โดยขึ้นอยู่กับความพิเศษมากหรือน้อยของนาฬิกาเรือนนั้นๆ หลังจากนั้นจึงจะเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นได้จากนาฬิกาเรือนสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการหรือเทคนิคที่เป็นที่นิยมชนิดหนึ่งในปัจจุบัน นั่นก็คือการตกแต่งด้วยอีนาเมล (การลงยา) ซึ่งนาฬิกาที่มีการตกแต่งหน้าปัดลักษณะนี้ นอกจากจะมีความสวยงามอย่างน่าทึ่งแล้ว ยังมีคุณค่าที่ต้องแลกมาด้วยฝีมืออันวิจิตรของช่างฝีมือ อันรวมไปถึงระยะเวลาอันยาวนานที่ใช้ในการผลิต ไปจนถึงเม็ดเงินจำนวนมากที่ผู้ซื้อต้องจ่าย ซึ่งเปรียบเหมือนงานศิลปะชั้นยอดที่นักสะสมต่างใฝ่ฝัน

 

maxresdefault

 

เพราะพื้นที่สำหรับงานศิลปะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ที่ใดที่หนึ่ง อย่างที่เห็นกันว่าแม้แต่บนหน้าปัดนาฬิกา ก็ยังถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงผลงานได้อย่างงดงามเช่นกัน ซึ่งการตกแต่งนาฬิกาด้วยงานศิลปะนั้น ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นมักได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ กำไล หรือเข็มกลัด ซึ่งช่วยขยายขอบเขตแห่งจินตนาการให้กับช่างนาฬิการะดับยอดฝีมือ ซึ่งกว่าจะมาเป็นนาฬิกาเรือนวิจิตรอย่างที่เห็นได้นั้น จะต้องอาศัยทักษะจากช่างฝีมือหลากหลายด้าน ทั้งช่างนาฬิกา ช่างแกะสลัก ช่างลงยา ช่างสลักลวดลาย ช่างอัญมณี และนักออกแบบอัญมณี ที่ต้องทำงานร่วมกัน เพราะงานเหล่านี้ล้วนเป็นงานฝีมือที่ละเอียดอ่อน และต้องถูกออกแบบด้วยมือ ก่อนทำแบบจำลองขึ้น จากนั้นจึงต้องนำมาผ่านการตรวจสอบจากบรรดาช่างนาฬิกาอย่างรอบคอบ ก่อนส่งต่อให้ช่างฝีมือที่มีทักษะพิเศษและความแม่นยำสูง ค่อยๆ รังสรรค์งานศิลปะลงไปบนหน้าปัด ซึ่งกว่าจะสำเร็จเป็นนาฬิกาหนึ่งเรือนได้ ต้องใช้เวลายาวนานกว่านาฬิกาทั่วไปเป็นอย่างมาก

 

09 DONZE x2

 

11 DONZE x2

 

IMG 1997 copy

 

และในบรรดาช่างฝีมือทั้งหมด ช่างลงยาถือได้ว่าเนื้อหอมที่สุด เพราะสืบทอดวิธีการนี้มาตั้งแต่ยุคอียิปต์ จีน อินเดีย และจักรวรรดิไบแซนไทน์ โดยแต่เดิมเทคนิคการลงยาถูกนำมาใช้ตกแต่งในงานสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน และเครื่องประดับ ซึ่งในศตวรรษที่ 16 ช่างผลิตนาฬิกาในลิโมจส์ ประเทศฝรั่งเศส เริ่มนำวิธีการนี้มาใช้กับนาฬิกาพก และกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อช่างลงยาเหล่านี้ลี้ภัยสงครามมาอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกนาฬิการะดับโลก โดยในปัจจุบันจำนวนช่างลงยาไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลงยาเป็นงานที่ยาก มีกรรมวิธีที่ซับซ้อน หลายขั้นตอน และมีเทคนิคเกี่ยวกับการผสมสีและการอบอีกมากมาย เพื่อให้สีที่ลงยาไว้มีความคงทน เรียกว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน ความเพียรพยายาม และความพิถีพิถัน โดยหน้าปัดนาฬิกาหนึ่งเรือนจะใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงจึงจะออกมาเป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งความอดทนเหล่านี้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญของผู้คนในปัจจุบัน ในการที่จะเรียนรู้และฝึกฝนกรรมวิธีดังกล่าว

 

5738 50P 001 PRESS

 

โดยการลงยาบนหน้าปัดนาฬิกาที่ยังคงความนิยมในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธีได้แก่ กรรมวิธีชองพลีเว่ (Champlevé) ในภาษาฝรั่งเศสซึ่งหมายถึงการทำลายนูน นับเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดและนิยมใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน โดยการสกัดพื้นผิวของโลหะเป็นร่องลึกจากนั้นจึงทำการลงยา ซึ่งจะได้ลวดลายนูนสูงและนูนต่ำที่แตกต่างกันไป แล้วจึงนำไปเผาเพื่อให้ยาที่ลงไว้ หลอมละลายก่อนขัดผิวให้เรียบอีกครั้ง ต่อมาคือ กรรมวิธีคโลซองเน่ (Cloisonné) โดยช่างจะใช้ลวดโลหะกันสีต่างๆ เป็นช่องเล็กๆ ให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆ ตามต้องการ จากนั้นจึงยึดโลหะดังกล่าวเข้ากับพื้นผิวหน้าปัด แล้วจึงค่อยทำการลงยาในบริเวณที่กำหนดไว้ ส่วนวิธีสุดท้ายคือ กรรมวิธีกรองฟู (Grand Feu) คิดค้นโดยช่างฝีมือในอียิปต์ จีน และอินเดีย เทคนิคนี้จะใช้น้ำยารองพื้นที่เตรียมอย่างประณีต ทาลงบนหน้าปัดนาฬิกา ก่อนนำไปเผาด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูง จากนั้นจึงนำมาร่างเป็นลวดลายและลงสีทีละขั้น แล้วนำเข้าเตาเผาไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง

 

5177G 012 21

 

เมื่อนำทักษะการสร้างสรรค์งานศิลปะของช่างฝีมือ วิธีการผลิตอันซับซ้อน รวมเข้ากับเรื่องราวและแรงบันดาลใจอันทรงคุณค่า ซึ่งถูกบอกเล่าผ่านหน้าปัดนาฬิกา การครอบครองนาฬิกาตามกรรมวิธีการลงยาจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเป็นเจ้าของสิ่งที่พิเศษสุด ซึ่งมีคำพูดของช่างทำนาฬิกาที่น่าสนใจว่า “เราไม่ได้ครอบครองแค่นาฬิกา แต่เราครอบครองความทรงจำอันล้ำค่า ที่บรรดาช่างฝีมือรังสรรค์ขึ้นมา” ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมงานเหล่านี้ถึงมีราคาและคุณค่าที่สูงเหลือเกิน