AVENTURINE & LAPIS LAZULI

By Dr. Attawoot Papangkorn

 

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “หน้าตา” เป็นสิ่งที่เรามักเลือกมองเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่เรามองนั้นจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่นาฬิกา การตัดสินใจเลือกเพราะพอใจในหน้าตาที่มองเห็นจึงเป็นเรื่องปกติ จะมีสักกี่คนที่เลือกนาฬิกาเรือนนึงโดยตัดสินใจจากคุณภาพของกลไกหรือองค์ประกอบภายในเท่านั้น และไม่สนใจในส่วนของรูปลักษณ์ภายนอกเลย ดังนั้นส่วนประกอบสำคัญของนาฬิกาที่สุดที่ส่งผลต่อความสวยงามของหน้าตาภายนอกก็ต้องเป็นหน้าปัดซึ่งสามารถมองเห็นได้ทันทีอย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนนี้ ตามหน้าประวัติศาสตร์ของวงการนาฬิกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตนาฬิกาทั้งหลายต่างจึงแข่งขัน คิดค้น และสรรหาวัสดุมากมายหลากหลายประเภทในการนำมาผลิตเป็นหน้าปัด เท่าที่วิทยาการในช่วงเวลานั้นๆ จะอำนวย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างความพิเศษให้กับนาฬิกาของตน โดยวัสดุพิเศษที่นิยมนำมารังสรรค์หน้าปัดนาฬิกาที่กำลังพูดถึงในที่นี้ก็คือ อเวนจูรีน (Aventurine)  และ ลาพิสลาซูลี่ (Lapis Lazuli)

 

alange s 205 086 p 1650186

 

อเวนจูรีนเป็นพลอยชนิดหนึ่ง ถูกพบได้มากในอินเดีย ชิลี สเปน รัสเซีย บราซิล ออสเตรีย และแทนซาเนีย มีลักษณะกึ่งโปร่งแสงจนถึงทึบแสง มีประกายจากผลึกไมก้าหรือฮีมาไทต์อยู่ภายใน ชื่อของอเวนจูรีนยังถูกนำมาใช้เป็นชื่อปรากฏการณ์ของพลอยชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันอีกด้วย อเวนจูรีนมีที่มาจากภาษาอิตาลีว่า per avventura ซึ่งแปลว่าโอกาส เนื่องมาจากอุบัติเหตุครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 18 ขณะที่คนงานทำกระจกกำลังหลอมแก้วกระจกอยู่นั้นได้เผลอทำผงทองแดงตกลงไปในเบ้าหลอม ทำให้ได้กระจกชนิดใหม่ที่มีประกายของผงทองแดงอยู่ภายใน เมื่อขยับไปมาจะเห็นประกายระยิบระยับแพรวพราว เนื่องจากมีมลทินของแร่บางชนิดซึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ ฝังตัวอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ จึงสะท้อนแสงออกมาคนละทิศทางทำให้เห็นเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม สีของอเวนจูรีนที่พบมากที่สุดคือสีเขียว แต่สามารถพบอเวนจูรีนสีอื่นๆ ได้เช่นกันเช่น สีฟ้า สีเหลือง และสีน้ำตาลแดง โดยสีที่นิยมนำมาผลิตเป็นหน้าปัดนาฬิกามากที่สุดคือสีน้ำเงิน

 ALS 205 086 dial detail W900

 

ส่วนลาพิสลาซูลี่เป็นหินชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยแร่ 3 ชนิดคือ แร่ไพไรท์ (Pyrite) มีสีทอง, แร่คาลไซท์ (Calcite) มีสีขาว และแร่ลาซูไรท์ (Lazurite) มีสีน้ำเงิน ลาพิสลาซูลี่เคยเป็นพลอยที่มีค่าสูงมากในความนิยมของกษัตริย์ชาวอียิปต์ แต่ปัจจุบันค่าความนิยมจะแล้วแต่กลุ่มประเทศ ลาพิสลาซูลี่มาจากภาษาลาตินแปลว่าหินสีน้ำเงิน มีชื่อทางการค้าแยกเป็น เปอร์เซียนลาพิส (Persian Lapis) มีสีน้ำเงินอมม่วงเข้ม ไม่มีแร่คาลไซท์ผสมอยู่ ถือเป็นลาพิสที่มีคุณภาพดีที่สุดและหายาก แหล่งกำเนิดที่ดีคือแถบอัฟกานิสถาน ซิเลียนลาพิส (Chilean Lapis) โดยทั่วไปจะไม่มีแร่คาลไซท์แต่จะมีจุดแต้มมากซึ่งเกิดจากทองแดงสีเขียว (Green Copper) ถือเป็นลาพิสที่มีค่าอีกชนิดหนึ่ง และสุดท้ายคือ รัสเซียหรือไซบีเรียน ลาพิส (Russian or Siberian Lapis) มีสีน้ำเงินเข้มเพราะมีแร่ไพไรท์ปนอยู่มาก และเนื่องจากลาพิสลาซูลี่มีลักษณะที่สามารถมองเห็นเกล็ดเล็กๆ ระยิบระยับของแร่ไพไรท์อย่างชัดเจน ผู้คนที่พบเห็นส่วนใหญ่จึงมักจะนึกไปถึงประกายของดวงดาวบนท้องฟ้ายามคํ่าคืน

 

Untitled 1 

Rolex Datejust Lapis 1 825x510

 

เมื่อความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่แปลกที่ผู้ผลิตนาฬิกาจะต้องค้นหาสิ่งแปลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมและพิเศษกว่าเดิม มาเย้ายวนผู้เล่นหรือนักสะสมตัวยงให้หลงไหลในความงามเหล่านั้นและยอมมอบเงินก้อนโตให้แต่โดยดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวงการนาฬิกาเท่านั้น แต่กลายเป็นเรื่องปกติในโลกกลมๆ ใบนี้ ฉะนั้นจงอย่าลืมตั้งสติควบคู่ไปกับความหลงไหล ก่อนที่จะมารู้ตัวอีกทีว่า “นี่เราทำอะไรลงไป...”