Tritium VS. Luminova

By Dr. Attawoot Papangkorn 

 

แสงสว่างเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีการคิดค้นและพัฒนาแหล่งกำเนิดแสงสว่างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เทียน ตะเกียง และหลอดไฟรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มนุษย์ยังคงดำเนินชีวิตได้แม้ยามไม่มีแสงสว่างจากธรรมชาติ ในโลกของเครื่องบอกเวลาก็เช่นกัน ในยุคเริ่มต้นของนาฬิกา การมองดูเวลาในที่มืดก็กลายเป็นปัญหาใหญ่และท้าทายผู้ผลิตนาฬิกาแบรนด์ต่างๆ ไปโดยปริยาย จนในที่สุดก็ได้ค้นพบสารหลายชนิดที่สามารถเปล่งแสงสว่างในที่มืดและนำมาประยุกต์ใช้กับนาฬิกาได้ แต่สารที่ได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นพรายน้ำบนหน้าปัดของนาฬิกาข้อมือทั้งในแง่ของการใช้งานและในแง่ของการสะสม คงไม่มีสารใดที่จะโดดเด่นเกินไปกว่าเจ้าสารสองตัวนี้แน่นอน นั่นก็คือทริเที่ยม (Tritium) และลูมิโนว่า (Luminova)

 

1318cb122b0ceee6810c2c8a7184b729ef1ef3c0

Tritium - Rolex Explorer I Ref.1016 (ภาพจาก: www.hqmilton.com)

 

qqsubmariner red 1680 swiss luminova 1969 5718 1 G

Luminova - Rolex Submariner (ภาพจาก: www.subgmt.com)

  

ทริเที่ยม (Gaseous Tritium Light Source เรียกย่อว่า GTLS) ถูกใช้ครั้งแรกในช่วงปี 1961 เป็นไอโซโทปสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่งของอะตอมไฮโดรเจนที่มีความเสถียรที่สุด และมีการแผ่รังสีออกมาอย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้มีคุณสมบัติพิเศษสามารถเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง โดยการปล่อยอนุภาคเบต้าออกมาจากการสลายกัมมันตภาพรังสี จึงไม่ต้องอาศัยการชาร์จพลังงานใดๆ จากแหล่งพลังงานอื่นๆ เลยแม้แต่น้อย โดยจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี และจะเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ (ความสว่างลดลง) ตามจำนวนปีที่ใช้งาน แต่อาจจะหมดสภาพก่อนหรือหลัง ขึ้นอยู่กับการใช้งานและเก็บรักษา ซึ่งถ้ามีการเสื่อมสภาพแล้วจะสังเกตได้จากการเปลี่ยนไปของสีพรายน้ำจากสีขาวอมเขียวกลายเป็นสีครีมอมเหลืองและไม่เปล่งแสง โดยจุดสังเกตหลักว่านาฬิกาเรือนไหนใช้ทริเที่ยมเป็นพรายน้ำนั้นสามารถสังเกตุได้ที่หน้าปัดบริเวณ 6 นาฬิกา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่ผู้ผลิตมักจะพิมพ์ประเทศที่ผลิตนาฬิกาเอาไว้ เช่น SWISS MADE และถ้าใช้ทริเที่ยมก็จะพิมพ์อักษร T ไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้าย เช่น T SWISS MADE T หรือพิมพ์แต่ด้านท้าย เช่น SWISS-T ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ถูกปล่อยออกมา

 

ssccsspp 8003797

Tritium - IWC GST Aquatimer(ภาพจาก: www.timezone.com)

 

rrrcUntitled 2

Tritium - Rolex Ladies DateJust (ภาพจาก: sandersonandson)

 

tritium

Tritium - Rolex Submariner Ref. 16610 (ภาพจาก: mendetails)

 

ส่วนลูมิโนว่า (สารเรืองแสงประเภท Phosphorescene) เป็นสารได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่ ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1993 โดยบริษัท Nemoto & Company Limited ประเทศญี่ปุ่น เป็นสารเรืองแสงที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สามารถเปล่งแสงได้ก็ต่อเมื่อได้รับการดูดซับแสงจากแดดหรือแหล่งกำเนิดแสงใดๆ ก็ตามในระยะเวลาอันสั้น แสงจะถูกดูดซับและเก็บไว้เพื่อเปล่งออกมาขณะอยู่ในที่มืด เช่น ถ้าได้รับแสงเป็นเวลาประมาณ 10 นาที พรายน้ำก็จะสามารถเปล่งแสงได้เป็นระยะเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง และสำหรับนาฬิกาที่มีสเปคสูงๆ เช่น นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำก็จะสามารถเปล่งแสงได้นานถึง 5-10 ชั่วโมงเลยทีเดียว โดยระดับความสว่างของแสงจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลา และระยะเวลาเปล่งแสงอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความสว่างของจุดกำเนิดแสงที่นาฬิกาได้สัมผัสและระยะทางจากแหล่งกำเนิดแสงถึงตัวนาฬิกาว่ามากน้อยแค่ไหน

 

14 NOMOS Club 38 Campus Nacht detail

Luminova - Nomos Club 38 Campus Nacht

 

แต่เหรียญก็มีสองด้านเสมอ จากผลข้างเคียงของกัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมาของทริเที่ยม ทางสมาพันธ์ผู้ผลิตนาฬิกาสวิสจึงตัดสินใจยกเลิกการใช้ทริเที่ยมเป็นสารเรืองแสงบนหน้าปัดนาฬิกาทุกเรือนตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งหมายถึงว่านาฬิกาที่ผลิตตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา จะใช้แต่ลูมิโนว่าเท่านั้น อย่างไรก็ดี จุดเด่นของทริเที่ยมคือความสามารถในการเปล่งแสงได้เองโดยไม่ต้องใช้แหล่งกำเนิดแสงมากระตุ้นก่อนอย่างลูมิโนว่า ทำให้ในปัจจุบันทริเที่ยมยังคงถูกใช้ในหลากหลายวงการ เช่น ทางการทหารหรือการสำรวจใต้ทะเลลึกที่ไม่สามารถใช้ต้นกำเนิดแสงจากแหล่งต่างๆ มากระตุ้นให้พรายน้ำเปล่งแสงได้ และที่สำคัญสำหรับโลกของนาฬิกา พรายน้ำที่ใช้ทริเที่ยมเมื่อวันเวลาผ่านไป จะมีการเปลี่ยนแปลงของสี มีการเฝด มีการเกิดของคราบบริเวณพรายน้ำ ที่ทำให้นาฬิกาเหล่านั้นมีเสน่ห์จนเป็นที่ต้องการของนักสะสม ที่ต้องเรียกว่า แม้จะใช้การไม่ได้แล้วแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครต้องการเสมอไป และทริเที่ยมก็ยังคงอยู่ในใจของนักสะสมนาฬิกาตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

yyttLuminova Chopard Happy Fish

Luminova - Chopard Happy Fish (ภาพจาก: www.salonqp.com)

 

 90PAM

Super-Luminova Panerai Ref. 00615 (ภาพจาก: imetransformed)