ATELIERS DEMONACO เรือนเวลาแห่งศักดิ์ศรี

 

การธำรงไว้ซึ่งศักดินาอันสูงส่ง คือ เจตนารมณ์ในการรังสรรค์เครื่องบอกเวลาแห่งราชรัฐโมนาโก ในนาม Ateiliers deMonaco (อทิลิเยร์ เดอโมนาโก) อันเป็นการเชิดชูวีรกรรมของผู้สถาปนาราชอาณาจักรอันงดงามของยุโรป และเป็นการนำความงามสง่าในแบบร่วมสมัยและจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของราชรัฐโมนาโก มาหลอมรวมเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แบรนด์และเรือนเวลาด้วยความประณีตพิถีพิถัน นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นเมื่อ ค.ศ.2008 เป็นต้นมา โดยมีสถานที่ตั้งของโรงงานอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นถิ่นฐานการผลิตนาฬิกาแห่งสำคัญของโลก

 

จากเจตนาเริ่มต้นของ Mr. Pim Koeslag นักประดิษฐ์นาฬิกาหนุ่มมากฝีมือ Mr. Peter Stas ซีอีโอ แห่งแบรนด์ Frederique Constant (เฟรเดอริค คองสตองท์) และ Mr. Robert Van Pappelendam ผู้บริหารแห่ง Frederique Constant ที่ต้องการสร้างนาฬิกาชั้นเลิศซึ่งสามารถดำรงคงอยู่เป็นมรดกอันล้ำค่าส่งมอบสู่ชนรุ่นหลังได้ตลอดไป แบรนด์ Ateliers deMonaco จึงถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2008 ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของเขาทั้งสาม โดยตกลงใจร่วมกันในการขออนุญาตนำเอาสัญลักษณ์แห่งราชวงศ์กษัตริย์อันสูงส่ง และเสน่ห์อันชวนหลงใหลกับความงามหรู แห่งราชรัฐโมนาโก ในทวีปยุโรป มาสร้างเป็นแบรนด์และเรือนเวลาของพวกเขา โดยมี Mr. Pim เป็นผู้ลงมือออกแบบสร้างสรรค์กลไกทุกแบบขึ้นด้วยตนเอง ทั้งยังคงรับหน้าที่เป็นซีอีโอ ของแบรนด์ด้วย

 

IMG 0391

Mr. Pim Koeslag

 

นาฬิกาทุกรุ่นทุกแบบของ Ateliers deMonaco ต่างเปี่ยมล้นไปด้วยรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นตัวแทนอันทรงเกียรติของราชรัฐโมนาโกอย่างเต็มภาคภูมิ ทุกแบบล้วนถูกสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กลไกจักรกลที่ถูกผลิตขึ้นแบบอิน-เฮ้าส์ ภายในเวิร์คช็อปของแบรนด์ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดจนการเสริมคุณค่าแห่งงานฝีมือผ่านการตกแต่ง การขัดแต่ง และการสลัก ชิ้นส่วนต่างๆ ด้วยฝีมือของช่างระดับสูง ตามขนบการผลิตนาฬิกาชั้นเลิศของชาวสวิส ผสานกับเทคนิคการตกแต่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างยาวนานกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นนาฬิกาแต่ละเรือน นาฬิกาแต่ละคอลเลคชั่นของ Ateliers deMonaco จึงเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการรังสรรค์นาฬิกาเรือนพิเศษแบบ ยูนีค พีซ ที่สร้างออกมาเพียงเรือนเดียวด้วยเช่นกัน อาทิ นาฬิกาเรือนพิเศษที่สร้างถวายเจ้าชายอัลแบร์ ที่สอง แห่งราชรัฐโมนาโก นาฬิกาเรือนพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ประวัติศาสตร์การแข่งรถรายการ โมนาโก กรังด์ปรีซ์ และนาฬิกาเรือนพิเศษ “วัดอรุณ” ที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยของเรา เป็นต้น

 

นาฬิกาของแบรนด์นี้มีตั้งแต่นาฬิกาที่ใช้กลไกความซับซ้อนสูงอย่าง กลไกมินิทรีพีทเตอร์ กลไกตูร์บิยอง กลไกเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ไปจนถึงกลไกระดับสามัญอย่างกลไกโครโนกราฟ และกลไกอัตโนมัติแบบแสดงเวลาปกติ แต่บทความนี้เราจะขอนำท่านมารู้จักกับนาฬิกาที่เพิ่งเปิดตัวออกมาในปี 2016 อันได้แก่ นาฬิกาตูร์บิยองเรือนพิเศษยูนีคพีซอย่าง Tourbillon ‘Wat Arun’ และ Tourbillon ‘Grand Prix de Monaco 1966’, นาฬิกาตูร์บิยองพร้อมการแสดงเวลาบนหน้าปัดขนาดเล็กติดตั้งแบบเยื้องศูนย์ Tourbillon Oculus 1297 และนาฬิกาประดับเพชร กลไกอัตโนมัติ Ronde de Monte-Carlo คอลเลคชั่นใหม่

 

Tourbillon ‘WAT ARUN’
& Tourbillon ‘Grand Prix de Monaco 1966’

นาฬิกาสองรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นเป็นพิเศษแบบ ยูนีค พีซ เพียงรุ่นละ 1 เรือนเท่านั้น โดยเป็นการรังสรรค์ศิลปะการสลักตกแต่งหน้าปัดอย่างพิถีพิถันด้วยมือของ Bernad Ditzof ช่างสลักยอดฝีมือของแบรนด์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรไทยกับราชรัฐโมนาโก โดยเลือกนำภาพที่บ่งบอกถึงเกียรติภูมิของแต่ละประเทศมานำเสนอ

 

DMC TB WA WG C

Tourbillon 'WAT ARUN' Unique Piece

 

ภาพที่ทาง Ateliers deMonaco ตั้งใจเลือกมาใช้บนหน้าปัดนาฬิกา Tourbillon ‘WAT ARUN’ เป็นภาพ “วัดอรุณ” จากมุมมองอันแสนคุ้นตา ด้วยเหตุผลว่า วัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง แห่งนี้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยความที่เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีความโดดเด่นทั้งด้านสถาปัตยกรรม การตกแต่ง และทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร ภาพอันวิจิตรนี้เป็นการสลักและตัดแต่งแผ่นทองคำไวท์โกลด์ 18 กะรัต จำนวน 3 ชิ้น ที่ติดตั้งซ้อนทับกันเพื่อสร้างลักษณะความงามแบบสามมิติ โดยใช้เวลาในการสร้างสรรค์ถึงกว่า 200 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งหลักชั่วโมงทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนอันเป็นสัญลักษณ์ประจำของแบรนด์ และด้วยความที่ทางผู้ออกแบบเลือกที่จะให้พื้นหน้าปัดไวท์โกลด์นี้เป็นแบบขัดลาย ชิ้นส่วนตัวเรือนของนาฬิกาเรือนนี้จึงใช้วัสดุไวท์โกลด์แบบขัดเงาเพื่อเป็นการสร้างความต่างของพื้นผิวและเป็นกรอบขับเน้นทวีความโดดเด่นให้กับภาพสลักบนหน้าปัด

 

DMC TB GP2 WG HD CMJN

Tourbillon 'Grand Prix de Monaco 1966' Unique Piece

 

ส่วนภาพที่เลือกมาใช้บนหน้าปัดของนาฬิกา Tourbillon ‘Grand Prix de Monaco 1966’ นั้น นำมาจากภาพโปสเตอร์ของการแข่งขันรถยนต์รายการ โมนาโก กรังด์ปรีซ์ ประจำปี 1966 โดยดีไซเนอร์ของแบรนด์ได้นำเอาภาพสุดคลาสสิกนี้มาถ่ายทอดผ่านงานสลักบนหน้าปัดไวท์โกลด์ 18 กะรัต ฉากที่ปรากฎบนภาพก็คือ รถแข่ง BRM ที่มี Graham Hill อยู่หลังพวงมาลัย กำลังไล่กวด John Surtee ในรถเฟอร์รารี่ อยู่บริเวณถนนหน้าพระราชวังโมนาโก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสถานที่สำคัญของโมนาโกไปพร้อมๆ กับการแข่งขันอันเร้าใจ ซึ่งกว่าจะสำเร็จเป็นภาพอันงดงาม 4 ระดับชั้นบนหน้าปัดนาฬิกาเช่นนี้ก็ต้องใช้เวลาสลักตกแต่งไปมากกว่า 200 ชั่วโมง

 

ตัวนาฬิกาที่ถูกเลือกใช้เป็นฐานแสดงให้กับภาพประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ภาพนี้ก็คือ นาฬิกาตัวเรือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มม. ที่เป็นการประกอบชิ้นส่วนวัสดุไวท์โกลด์จำนวนหลายสิบชิ้นเข้ากับแกนตัวเรือนที่ทำจากไทเทเนี่ยม การออกแบบให้มีลักษณะเช่นนี้ก็เพื่อให้สามารถลงมือขัดแต่งชิ้นส่วนวัสดุไวท์โกลด์แต่ละชิ้นได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้สามารถออกแบบให้ตัวเรือนมีเหลี่ยมมุมและส่วนโค้งส่วนเว้าได้เต็มจินตนาการ และที่ใช้แกนตัวเรือนไทเทเนี่ยมก็เพื่อไม่ให้ตัวเรือนมีน้ำหนักมากจนเกินไป โดยการขัดแต่งและการประกอบตัวเรือนถูกกระทำด้วยมืออย่างพิถีพิถัน และสวมคู่มากับสายหนังจระเข้เส้นสวย สำหรับกลไกที่ใช้นั้น เป็นกลไกตูร์บิยองแบบ XP-1 (“เอ็กซ์ตรีม พรีซิชั่น วัน มินิท” ตูร์บิยอง) รหัส dMc-980 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง แสดงเวลาด้วยเข็มทรงดอฟีน ขึ้นลานแบบอัตโนมัติด้วยโรเตอร์ทองคำ 22 กะรัต ที่ตัดฉลุและสลักตกแต่งด้วยมือเป็นตราประจำราชรัฐโมนาโก ซึ่งนอกจากจะมีจุดเด่นที่การใช้บริดจ์ตูร์บิยองที่สร้างจากแซฟไฟร์ใสอันเป็นอีกเอกลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมติดตั้งเข็มวินาทีขนาดเล็กมาให้บนกรงตูร์บิยอง โดยเจาะช่องขนาดใหญ่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาบนหน้าปัดให้มองเห็นกันชัดๆ และมีการขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกต่างๆ อย่างงดงามด้วยมือซึ่งมองเห็นได้เต็มสายตาผ่านกระจกแซฟไฟร์เคลือบสารกันแสงสะท้อนบนฝาหลังแล้ว กลไกนี้ยังถือเป็นกลไกตูร์บิยองที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำที่สุดเครื่องหนึ่งของโลก โดยมีอัตราความคลาดเคลื่อนเพียง 0-2 วินาทีต่อวัน อันเป็นผลมาจากชิ้นส่วนและระบบของจักรกลตูร์บิยองที่ Mr. Pim พัฒนาขึ้นมาใหม่ รวมถึงการใช้เอสเคปวีลและเลเวอร์ที่สร้างจากวัสดุซิลิเซี่ยม อันแข็งแกร่งทนทานและมีความเรียบลื่นสูง ซึ่งเป็นระบบกลไกที่ทางแบรนด์ได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองแล้ว

 

Tourbillon Oculus 1297

นาฬิกาคอลเลคชั่น Tourbillon Oculus เป็นนาฬิกากลไกตูร์บิยองที่แสดงชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มขนาดเล็กบนวงหน้าปัดบานเล็กฉลุเลขโรมันที่จัดวางแบบเยื้องศูนย์อยู่ทางด้านบนของเพลทกลไก พร้อมเข็มวินาทีขนาดเล็กบนกรงตูร์บิยอง ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2014 ในตัวเรือนวัสดุทองคำโรสโกลด์ประกอบเข้ากับแกนกลางไทเทเนี่ยมด้วยมือ ที่มาพร้อมกับเพลทกลไกเคลือบรูเธเนี่ยมซึ่งตกแต่งด้วยลายโค้ตเดอเชอแนฟแบบซันเรย์กระจายรัศมีจากวงหน้าปัดแสดงเวลา และทำงานด้วยกลไกตูร์บิยองความเที่ยงตรงสูงสุดเครื่องหนึ่งของโลก XP-1 ที่ขึ้นลานแบบอัตโนมัติด้วยโรเตอร์ทองคำ 22 กะรัต สลักตกแต่งด้วยมือเป็นตราประจำราชรัฐโมนาโก พร้อมบริดจ์ตูร์บิยองที่สร้างจากแซฟไฟร์ และใช้เอสเคปวีลกับเลเวอร์วัสดุซิลิเซี่ยม ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 88 เรือน จากนั้นก็มีเวอร์ชั่นคอมบิเนชั่นอื่นๆ ตามออกมาอีก โดยทุกเวอร์ชั่นล้วนเป็นการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงรูปแบบละ 88 เรือนเช่นเดียวกัน

 

พอถึงปี 2016 ทางแบรนด์ก็ได้ออกเวอร์ชั่นใหม่ให้กับนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้อีกครั้งโดยมีชื่อเรียกต่อท้ายว่า 1297 อันมีที่มาจากปี ค.ศ. ที่ตระกูล Grimaldi โดย Francois Grimaldi ได้ปลอมเป็นพระและนำกองทัพเล็กๆ ของเขาเข้ายึดป้อมปราการโมนาโกจากฝ่ายอิตาลีได้สำเร็จ ซึ่งภาพแห่งชัยชนะนี้ได้ถูกจารึกลงบนตราสัญลักษณ์ของโมนาโกนับจากนั้นเป็นต้นมา โดยเป็นภาพพระ 2 รูปแกว่งดาบอยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนบริเวณส่วนกลางของตราสัญลักษณ์

 

dMc Oculus1297 Titanium Print

Tourbillon Oculus 1297

 

ดีไซเนอร์ของทางแบรนด์ได้ถ่ายทอดลักษณะของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนนี้ลงบนพื้นหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้โดยเป็นลายนูนที่เกิดจากการสลักเส้นลายด้วยเครื่องยิงเลเซอร์แบบ 5 แกน สุดล้ำสมัยที่สามารถยิงความร้อนและหลอมละลายเนื้อวัสดุได้อย่างงดงามที่สุด ขณะที่บานหน้าปัดขนาดเล็กสำหรับแสดงเวลาที่ติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาถูกฉลุโปร่งเป็นโครงหลักชั่วโมงเลขโรมันอย่างงดงาม ให้อารมณ์คลาสสิกแฝงความทันสมัยได้อย่างลงตัว บรรจุมาในตัวเรือนขนาด 44 มม. เช่นเดิม ผลิตออกมา 3 เวอร์ชั่นด้วยกัน คือ แบบตัวเรือนไทเทเนี่ยมล้วน คู่กับหน้าปัดเคลือบพีวีดีสีน้ำเงิน “รอยัล บลู” และสายหนังจระเข้สีน้ำเงิน และแบบแกนตัวเรือนไทเทเนี่ยมที่ประกอบด้วยชิ้นตัวเรือนโรสโกลด์หรือไวท์โกลด์ คู่กับหน้าปัดเคลือบพีวีดีสีเทา โดยทุกเวอร์ชั่นจะถูกผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดเพียงเวอร์ชั่นละ 88 เรือน

 

Ronde de Monte-Carlo

Ronde de Monte-Carlo คือ คอลเลคชั่นนาฬิกาสไตล์เรียบหรูแบบสามเข็มทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ ในตัวเรือนขนาด 39 มม. หนา 11 มม. ที่ใช้ชิ้นทองคำประกอบเข้ากับแกนตัวเรือนไทเทเนี่ยมด้วยมือ และด้วยขนาดตัวเรือนที่เหมาะกับทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงเช่นนี้ Ronde de Monte-Carlo จึงมีทั้งแบบตัวเรือนเกลี้ยงเกลาเรียบง่ายและแบบประดับเพชรพร้อมรูปแบบการตกแต่งต่างๆ ให้เลือกอย่างหลากหลาย

 

คอลเลคชั่นใหม่ของรุ่น Ronde de Monte-Carlo ที่เปิดตัวออกมาในปี 2016 มีทั้งหมด 5 เวอร์ชั่นด้วยกัน โดยจะเป็นแบบตัวเรือนประดับเพชรที่แตกต่างกันตรงวัสดุและรายละเอียดของการตกแต่ง แยกออกเป็นแบบไวท์โกลด์ 2 เวอร์ชั่น และแบบโรสโกลด์อีก 3 เวอร์ชั่น

 

DMC MC LMPBL RGD HD CMJN

 

DMC MG LMPW RGD HD CMJN

 

DMC MC DMPW RGP HD CMJN

 

แบบโรสโกลด์ 2 เวอร์ชั่นแรก จะเป็นแบบที่มีการประดับเพชรจำนวน 300 เม็ด (น้ำหนักประมาณ 1.33 กะรัต) จัดวางเรียงรายเป็น 3 แถวปูเต็มบริเวณพื้นขอบขอบตัวเรือน ขณะที่บนพื้นหน้าปัดจะติดตั้งด้วยหลักชั่วโมงเลขโรมันร่วมกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนพร้อมเส้นวงคู่สีโรสโกลด์ โดยความแตกต่างจะอยู่ที่เวอร์ชั่นหนึ่งใช้หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีฟ้าอ่อน ส่วนอีกเวอร์ชั่นหนึ่งจะใช้หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาว ทั้ง 2 เวอร์ชั่นสวมคู่มากับสายหนังจระเข้โทนสีน้ำตาล สำหรับแบบโรสโกลด์เวอร์ชั่นที่สามนั้น นอกจากการประดับเพชรบนขอบตัวเรือนแล้ว บริเวณส่วนขาของตัวเรือนและชิ้นปีกของตัวเรือนทั้งด้านหน้าและด้านข้างตลอดจนบริเวณเม็ดมะยมยังมีการประดับเพชรมาให้แบบเต็มพื้นที่ด้วย รวมจำนวนเพชรทั้งหมดได้ถึง 617 เม็ด (น้ำหนักประมาณ 2.93 กะรัต) เลยทีเดียว อีกทั้งบนหน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาวที่ใช้กับรุ่นนี้ นอกจากหลักชั่วโมงเลขโรมันสีโรสโกลด์ 4 ตำแหน่งแล้ว ก็ได้มีการประดับเพชรจำนวน 8 เม็ด (0.03 กะรัต) ลงบนเบ้าหลักชั่วโมงสีโรสโกลด์ด้วย โดยสวมคู่มากับสายหนังจระเข้โทนสีม่วงเข้ม

 

DMC MC LMPBL WGD HD CMJN

 

DMC MC LMPW WGD HD CMJN

 

สำหรับแบบไวท์โกลด์ที่มี 2 เวอร์ชั่นนั้น จะเป็นแบบประดับเพชร 300 เม็ด วางเรียงรายเป็น 3 แถวบนขอบตัวเรือน และใช้หลักชั่วโมงเลขโรมันร่วมกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนพร้อมเส้นวงคู่สีเงิน และสวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีน้ำเงินเข้มเช่นเดียวกัน ความแตกต่างของ 2 เวอร์ชั่นนี้จะอยู่ที่สีเปลือกหอยมุกของหน้าปัด โดยเวอร์ชั่นหนึ่งจะเป็นสีฟ้าอ่อน ส่วนอีกเวอร์ชั่นจะเป็นสีขาว

 

นาฬิกา Ronde de Monte-Carlo ทุกเวอร์ชั่น ใช้กลไกอัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ที่มีเอสเคปวีลทำจากวัสดุซิลิเซี่ยม ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ทองคำโรสโกลด์ 22 กะรัต ซึ่งทั้งชิ้นโรเตอร์และบริดจ์ของกลไกต่างถูกสลักตกแต่งอย่างสวยงามด้วยมือ ส่วนจำนวนการผลิตนั้นถูกจำกัดเอาไว้เพียง 88 เรือนต่อเวอร์ชั่นเท่านั้น จึงมีเพียงไม่กี่คนในโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ที่มีโอกาสได้ครอบครองนาฬิกาแต่ละแบบของ Ateliers deMonaco

 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท แม็คโครริช เมโทร จำกัด
โทร. 02 255 6648 ถึง 9 
พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ateliers-demonaco.com

 

By Viracharn