วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ต้นตระกูล Calatrava, Patek Philippe Ref. 96

By: Rittidej Mohprasit

 

แต่ในปัจจุบัน บทบาทของนาฬิกาเปลี่ยนไปมาก มากจนกลายไปเป็นชิ้นงานศิลปะที่บ่งบอกไปถึงรสนิยม ซึ่งก็มีน้อยครั้งมาก ที่งานนาฬิกาหนึ่งชิ้นจะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ท้าทายกาลเวลา และพร้อมที่จะก้าวไปสู่อนาคตเคียงข้างแบรนด์ และผู้สวมใส่ได้อย่างสง่างามอย่างเช่น Patek Philippe Calatrava

 

ซึ่งในปัจจุบันนี้ Patek Philippe แทบจะเป็นแบรนด์ไม่ต้องการการเกริ่นนำ เนื่องจากความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่เป็นที่ทราบกันทั่วไป ทั้งด้านการออกแบบ ตัวสินค้า การเงิน และฐานลูกค้า แต่เชื่อหรือไม่ว่าในอดีตนั้น Patek Philippe เคยต้องประสบปัญหาทางด้านการเงินในระดับที่แทบจะล้มละลาย และปัญหานี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตินาฬิกาควอท์ซด้วย แต่เกิดตั้งแต่ช่วงปลายของปี 1920s ซึ่งโลก (นำโดยสหรัฐอเมริกา) ก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาอย่างรุนแรงเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ (เรียกกันว่า The Great Depression) แบรนด์ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสอย่าง Patek, Philippe & Cie (ชื่อในตอนนั้น) แม้ที่ผ่านมาจะสามารถยืนหยัดผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจโลกมาอย่างมั่นคงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็ยังไม่อาจเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนั้นได้  สถานการณ์งวดถึงขั้นว่าในปี 1932 ถ้าไม่มีการอัดฉีดเงินเข้ามาช่วยสภาพคล่อง แบรนด์ Patek Philippe คงต้องสูญหายไปตลอดกาลเป็นแน่

 

1.SternBrothers

พี่น้อง Jean และ Charles Henri Stern

 

2.CadransSternAds

โฆษณาของ Fabrique de Cadrans Stern Frères ในหนังสือพิมพ์ยุคนั้น

 

พระเอกที่ก้าวเข้ามากอบกู้ Patek Philippe ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือสองศรีพี่น้อง Jean และ Charles Henri Stern (นามสกุลคุ้นๆ ไหม) เจ้าของบริษัท Fabrique de Cadrans Stern Frères หนึ่งในผู้ผลิตหน้าปัดนาฬิกาส่งขายให้แก่ Patek Philippe นั่นเอง ทั้งสองพี่น้อง Stern มีความมั่นใจว่าแบรนด์นี้ยังมีศักยภาพอยู่ จึงเข้าซื้อกิจการในระดับมีอำนาจควบคุม (controlling interest) พี่น้อง Stern ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีในการเปลี่ยนแปลงให้ Patek Philippe กลับมามีกำไรได้ และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมาตระกูล Stern ได้กลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์ Patek Philippe จนถึงปัจจุบัน (คุณ Thierry Stern ประธานคนปัจจุบันเป็นรุ่นเหลนของ Charles Henri Stern นั่นเอง)

 

3.ThierryStern

Thierry Stern

 

ขอย้อนกลับไปในปี 1932 อีกที จากวิกฤตทางเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้ Patek Philippe จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจ จากเดิมที่มุ่งเน้นผลิตนาฬิการะดับสูงตามความต้องการของลูกค้า ไปสู่การเปิดตลาดนาฬิกาใหม่ๆ ที่มีของพร้อมขาย ในราคาที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ต้องไม่ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณภาพของงานจนทำให้แบรนด์ต้องเสียหาย แม้จะยังอยู่ในยุคที่นาฬิกาพกยังคงเป็นรูปแบบของนาฬิกาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด Patek Philippe ก็ได้ให้กำเนิดนาฬิกาข้อมือ Ref. 96 จนกลายเป็นต้นตระกูลของไลน์ Calatrava ที่โลกรู้จักกันดี

 

4.Patek96

Patek Philippe Ref. 96

 

คุณ David Penney ผู้ออกแบบ Ref. 96 นั้นหลงใหลในแนวทางการออกแบบสไตล์เบาเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งมีกำเนิดมาจากโรงเรียนสอนออกแบบในประเทศเยอร์มันนี โดยรวบรวมศาสตร์ทางศิลปะ งานฝีมือ และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อเป้าหมายให้เกิดดีไซน์ที่เรียบง่าย สง่างาม ไร้กาลเวลา ไม่มีส่วนเกินหรือส่วนขาด ซึ่งกลายไปเป็นพื้นฐานการออกแบบนาฬิกาข้อมือแนวเดรสของอุตสาหกรรมนาฬิกา และเป็นลายเซ็นต์การออกแบบไลน์ Calatrava มาจนถึงปัจจุบัน

 

5.PenneyDrawingAndTheFirst96

ภาพร่าง Ref. 96 โดย David Penney เทียบกับนาฬิกา Ref. 96

 

ในยุคก่อนหน้านั้น เวลาพูดถึงนาฬิกา Patek Philippe เรือนหนึ่งๆ คงต้องอ้างอิงที่ตัวเลขเครื่องและเลขตัวเรือน ซึ่งทำให้การทำตลาดในวงกว้างเป็นไปได้อย่างยากลำบากพอสมควร แล้วถ้ามองไปยังคู่แข่งอย่าง Rolex เวลาลูกค้าเดินเข้าไปในบูติคก็อาจแค่ต้องบอกคนขายว่า “ผมต้องการนาฬิกา Oyster เรือนหนึ่ง” (วิสัยทัศน์ด้านการตลาดที่กว้างไกลของ Hans Wildorf นั้นไม่ธรรมดา) และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ Patek Philippe เริ่มทำนาฬิกาที่เป็นซีรี่ส์โดยใช้เลขอ้างอิง (Reference Number) เพื่อความง่ายในการอ้างถึง และนาฬิกาซีรี่ส์แรกของ Patek Philippe ก็คือ Ref. 96 นั่นเอง นอกจากนี้ ในปีเดียวกันนี้เองที่ Patek Philippe ก็ได้ให้กำเนิดนาฬิกาข้อมือแบบจับเวลาที่ใช้เลขอ้างอิงเป็นครั้งแรกด้วย นั่นคือ Ref. 130

 

6.Caliber 12 120

กลไกอินเฮาส์ Caliber 12-120

 

นาฬิกาข้อมือ Patek Philippe Ref. 96 เปิดตัวในงาน Die Schweizer Uhrenmesse ปี 1932 (แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ The Swiss Watch Show ซึ่งเป็นชื่อเดิมของงาน Basel Fair  และ Baselworld ในปัจจุบัน) นำแนวทางการออกแบบที่เน้นให้ “รูปแบบเป็นตัวนำการใช้งาน” มาใช้ (form dictates function) โดยออกแบบให้ใช้เคสแบบสามชั้นที่เคสกลางเป็นทรงกลม ต่อกับขาของนาฬิกาแบบเป็นชิ้นเดียวไร้รอยต่อ ขนาดเพียง 30 - 31 มิลลิเมตร หน้าปัดที่สะอาดตา อ่านง่าย สวมใส่ง่าย เนื่องจากมีความหนาของตัวเรือนเพียง 9 มิลลิเมตร ด้วยรูปลักษณ์ที่สง่างามและไม่หวือหวา Patek Philippe Ref. 96 จึงได้รับความนิยมและถูกผลิตอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 40 ปี (ตั้งแต่ปี 1932 ถึง 1973) โดยมีหน้าตาและวัสดุหลากหลายแบบตลอดช่วงเวลาการผลิต

 

ในช่วงต้นของ Ref. 96 ผู้เขียนพบว่า Patek Philppe ใช้กลไกขนาด 12 ligne จาก Jaeger Le-Coultre แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1934 ก็เปลี่ยนมาเป็นกลไกอินเฮาส์คาลิเบอร์ 12-120 ของ Patek Philippe ด้วยเหตุจากวิกฤติทางการเงินก่อนหน้านี้ ทางแบรนด์จึงเปลี่ยนทิศทางในการบริหาร โดยยกเลิกการซื้อกลไกสำเร็จรูปจาก Jaeger Le-Coultre มาใช้ แล้วหันมาพัฒนาและใช้กลไกอินเฮาส์ของตัวเอง โดยกลไกชุดนี้มีคุณ Jean Pfister เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการทางด้านเทคนิค (ซึ่งตอนนั้น Patek Philippe เพิ่งได้ตัวมาจาก Tavannes Watch Co.) ช่วงนี้ถือว่า Patek Philippe ฟอร์มร้อนแรงมาก เนื่องจากภายใน 6 ปีหลังจากนั้น Patek Philippe ก็พัฒนาและเปิดตัวกลไกอินเฮาส์รัวๆ ถึง 10 ชุดเลยทีเดียว อย่าลืมว่ายุคนั้นไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ในการช่วยออกแบบจึงถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

 

7.Black96

 

8.Arabic96


9.Breguet96

 

10.SectorAndDiamond96

Ref. 96 มีหลายแบบ น่าสะสมทั้งนั้นเลย

 

Ref. 96 มีหน้าตาหลากหลายมาก โดยปกติจะมีเข็มวินาทีอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา แต่ก็มีข้อยกเว้นแปลกๆ อยู่บ้าง รุ่นที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษคือ Ref. 96 ที่มีเข็มวินาทีอยู่ตรงกลาง (center seconds) ซึ่งก็เป็นกลไกอินเฮาส์ Caliber 12-120 ตัวเดิมที่ถูกนำมาพัฒนาต่อโดยความร่วมมือกับคุณ Victorin Piguet อัฉฉริยะแห่งโลกกลไกอีกคนหนึ่งในยุคนั้น (ไม่พบว่ามีความเกี่ยวดองอะไรกับแบรนด์ Audemars Piguet) โดยเพิ่มกลไกเข็มวินาทีกลางหน้าปัด (center seconds mechanism) ที่เชื่อมต่อกับจักรที่ขับเข็มวินาทีที่ 6 นาฬิกา (ปกติเข็มวินาทีจะอยู่บนจักรที่สี่) ดังนั้นการที่เข็มวินาทีที่ถูกขยับมาอยู่ตรงกลางหน้าปัด จึงถือเป็นกลไกเข็มวินาทีแบบอ้อม (indirect center seconds) ซึ่งในทางวิศวกรรมศาสตร์ถือเป็นการออกแบบที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และอาจก่อให้เกิดปัญหาที่เพิ่มขึ้นในการใช้งาน แต่ก็ถือว่าเจ๋งมากในมุมมองของนักสะสม

1111Patek96CS

Ref. 96 Center Seconds

 

อีกรูปแบบที่น่าสนใจมากคือ Patek Philippe Ref. 96 ที่มีกลไกปฏิทิน (Full Calendar) ที่ต้องให้เครดิตนาฬิการุ่นนี้เป็นพิเศษหน่อยเพราะ Ref. 96 Full Calendar ซึ่งเป็นหนึ่งในนาฬิกาข้อมือของ Patek Philippe เรือนแรกๆ ที่มีกลไกคอมพลิเคชั่นเลยทีเดียว (ปัจจุบันเราพบ Ref. 96 Full Calendar แค่ 5 เรือนเท่านั้น) การใส่กลไกซับซ้อนขนาดนี้ในเคสขนาดเพียง 31 มิลลิเมตร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

1212 Patek96Calendar

Ref. 96 พร้อมกลไกปฏิทิน

 

อีกเรื่องที่ควรพูดถึงสักหน่อยคือการที่ Patek Philippe เลือกใช้ชื่อและตรา Calatrava Cross ที่อ้างอิงมาจากชื่ออัศวินแห่งคาลาทราว่า (Order of Calatrava) ซึ่งเป็นกองรบใต้อาณัติของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในศตวรรษที่ 12 (หน่วยนี้มีวีรกรรมรบกับแขกมัวร์) ซึ่งจริงๆ Patek Philippe ได้จดชื่อและเครื่องหมายการค้าในนาม Calatrava ไว้ตั้งแต่ปี 1887 (พร้อมกับชื่อทางการค้า Patek, Phlippe & Cie) แต่เพิ่งจะเริ่มเอามาใช้อย่างแพร่หลายกับนาฬิกาก็ช่วงกลางศตวรรษที่ 19  ส่วนสาเหตุที่ชัดเจนว่าทำไม Patek Philippe ถึงเลือกใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์ของอัศวินคาลาทราว่า ยังคงเป็นปริศนาอยู่ ที่เราทราบได้อย่างแน่นอนก็มีแค่ว่าคุณ Antoine Norbert Patek ผู้ร่วมก่อตั้ง Patek Philippe มีความฝังใจอะไรสักอย่างกับตราคาลาทราว่า จนถึงกับเอาตรานี้มาประทับบนนาฬิกาพกตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

 

13.KnightofCalatrava

รูปวาดจำลองอัศวินคาลาทราว่า

 

14.KingAlfonso13ofSpain

รูปวาดกษัตริย์อัลฟอนโซที่ 13 แห่งราชอาณาจักรสเปน ในชุดอัศวินคาลาทราว่า

 

Rittidej