SIHH 2012 - New pieces from MONTBLANC

 

MONTBLANC เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ของแต่ละคอลเลคชั่นหลักของตนภายในงาน SIHH 2012 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างอลังการ ด้วยนาฬิกาอุดมฟังก์ชั่นที่ถ่ายทอดฝีมือในการสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ และขัดแต่งกลไกชั้นเลิศออกมาให้โลกได้ประจักษ์กันซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าทาง MONTBLANC มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการผลิตนาฬิการะดับสูงเพียงใด ขอเชิญรับชมได้เลยครับ

 

 

Villeret 1858 Collection

Regulateur Nautique Timepiece Set

 

MONTBLANC เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ในไลน์คอลเลคชั่น Villeret 1858 ซึ่งเขาบอกว่าเป็นมิติใหม่ของคอลเลคชั่นนี้ด้วยชุดนาฬิกาที่มีชื่อว่า Regulateur Nautique Timepiece ที่ตั้งใจทำขึ้นเพื่ออุทิศให้กับความยิ่งใหญ่ของเครื่องบอกเวลาประจำเรือซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดเดียวที่สามารถใช้คำนวณตำแหน่งของลำนาวาบนผืนสมุทรทั้งละติจูดและลองติจูดได้อย่างถูกต้องแม่นยำก่อนที่จะมีระบบนำทางสมัยใหม่ใช้กัน ในแต่ละชุดจะประกอบไปด้วยนาฬิกาข้อมือกลไกโครโนกราฟ Regulateur Nautique Chronograph ที่แสดงค่าแบบเรกูเลเตอร์พร้อมฟังก์ชั่นทูไทม์โซน และนาฬิกาคล็อก Regulateur Nautique Navigatinal Clock สำหรับใช้ในการเดินเรือบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ได้ 3 ไทม์โซนและยังแสดงค่าเวลาแบบเวิลด์ไทม์ได้ด้วย ทาง MONTBLANC ประกาศว่าจะผลิต Regulateur Nautique Timepiece Set ขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 16 ชุดเท่านั้น โดยแบ่งเป็นชุดที่ประกอบด้วยนาฬิกาข้อมือตัวเรือนเร้ดโกลด์ 8 ชุด และไวท์โกลด์อีก 8 ชุด

 

20120222 74172770

 

Regulateur Nautique Chronograph watch

 

หน้าปัดและวิธีการบอกเวลาของนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ Regulateur Nautique Chronograph รุ่นนี้ถูกออกแบบขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องบอกเวลาที่ใช้นำทางในการเดินเรือในอดีต ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือการบอกเวลาได้ 2 สถานที่ เวลาแรกเป็นเวลาของฝั่งที่ออกเรือมา ส่วนเวลาที่สองเป็นเวลา ณ ตำแหน่งปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นหน้าปัดบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ที่มีเข็มกลางบอกนาทีร่วมกัน โดยมีหน้าปัดย่อยบอกชั่วโมงอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และหน้าปัดย่อยบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา บอกเวลาที่ 2 บอกกลางวัน-กลางคืนที่ตำแหน่ง 1 นาฬิกา เคาน์เตอร์จับเวลา 30 นาทีที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และมาตรกำลังสำรองพร้อมมาตรแสดงไวนดิ้งโซนซึ่งใช้หน้าปัดย่อยเดียวกันแต่คนละเข็มซึ่งหากลานยังคงมีกำลังที่แอมปลิจูดเพียงพอสำหรับการทำงานอย่างเที่ยงตรง เข็มทั้งสองก็จะชี้ทับกันแต่หากแอมปลิจูดลดลงจนไม่สามารถรักษาความเที่ยงตรงได้แล้ว เข็มสีแดงก็จะแยกออกจากเข็มน้ำเงินและเริ่มตกลงอยู่ในโซนสีแดงซึ่งหมายความว่าจะต้องไขลานเพิ่มเพื่อคงความแม่นยำในการรักษาเวลาเอาไว้ อีกทั้งยังเสริมความงดงามด้วยการเปิดช่องบนหน้าปัดให้เห็นเฟืองและเพลทขัดลายเซอร์คูลาเกรน และงานแร็คปลายลูกศรที่ทำจากบลูด์สตีลซึ่งเป็นโลโก้แบบดั้งเดิมของ Minerva อีกต่างหาก

 

เครื่องที่ประจำการอยู่ในนาฬิการุ่นนี้เป็นเครื่องไขลานคอลัมน์วีลโครโนกราฟปุ่มกดเดียว Calibre MB M16.30 ชิ้นส่วน 304 ชิ้น 35 จิวเวล กำลังสำรอง 50 ชั่วโมง การใช้งานฟังก์ชั่นโครโนกราฟเป็นแบบปุ่มกดเดียว ผลิตและขัดแต่งโดยโรงงาน Minerva ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง สามารถให้ความละเอียดในการอ่านค่าได้ในระดับ 1/5 ของวินาที และมากับฟังก์ชั่นแสดงค่ากำลังสำรองและไวนดิ้งโซนซึ่งประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 19 ชิ้นที่ได้รับสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุลงบนตัวเรือนขนาด 43.5 มิลลิเมตร ที่มีปุ่มกดโครโนกราฟแบบโมโนพุชเชอร์ บิลท์อินอยู่บนเม็ดมะยม โดยมีปุ่มกดที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา สำหรับใช้ปรับเข็มเพื่อบอกเวลาไทม์โซนที่ 2 โดยจะเพิ่มครั้งละชั่วโมง กระจกหน้าปัดคริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน ฝาหลังขันเกลียวกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลมองเห็นงานขัดแต่งและการทำงานของกลไกรวมถึงบาลานซ์ขนาดใหญ่ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้โดยจะเป็นสีน้ำตาลเข้มสำหรับตัวเรือนเร้ดโกลด์ (5N) 18k และสีน้ำเงินน้ำทะเลสำหรับตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k

 

20120222 51585371   20120222 78840180

 Regulateur Nautique Navigatinal Clock

 

ส่วนของนาฬิกาคล็อก Regulateur Nautique Navigatinal Clock นั้นทาง MONTBLANC ได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดถือความเที่ยงตรงในการทำงานอันเป็นหัวใจและคุณค่าของเครื่องบอกเวลาที่ใช้ในการเดินเรือเอาไว้เป็นสรณะ ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับเจ้าของที่จะนำไปประจำการบนเรือยอชต์ส่วนตัว ตัวนาฬิกามีขนาดตัวเรือนกว้าง 64 เซนติเมตร (ที่ฐานกว้าง 56 เซนติเมตร) ความสูงทั้งหมด 93 เซนติเมตร และมีน้ำหนัก 120 กิโลกรัม ส่วนฐานของนาฬิกาประกอบขึ้นจากวัสดุชนิดต่างๆ ได้แก่ กรานิต บราส อลูมิเนียม และคาร์บอนไฟเบอร์โดยมีระบบรองรับแบบ Cardanic ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในกรงที่ทำจากบราสชุบนิกเกิ้ลเพื่อให้ตัวนาฬิกายังคงตั้งขนานกับพื้นโลก (มีองศาการยกตัวได้จนถึง 27 องศา) ส่วนตัวเรือนนาฬิกานั้นจะประกอบขึ้นจาก สตีล และบราสชุบนิกเกิ้ล (ชุบเร้ดโกลด์สำหรับเรือนที่เข้าคู่กับนาฬิกาข้อมือตัวเรือนเร้ดโกลด์) หล่อหลอมออกมาเป็นงานเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าแห่งศิลป์ตามศิลปะแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูง และในเมื่อถูกออกแบบให้เป็นชุดเดียวกับนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟแล้ว นาฬิกาคล็อกเรือนนี้จึงมีจุดยึดนาฬิกาข้อมือที่ออกแบบให้เป็นสตรัทพร้อมมีระบบรองรับ Cardanic ขนาดเล็กติดตั้งเอาไว้เพื่อให้นาฬิกาข้อมือติดตั้งอยู่อย่างปลอดภัยจากคลื่นลมทะเลด้วย

 

นาฬิกาคล็อกไขลานกำลังสำรอง 360 ชั่วโมงเครื่องนี้สามารถบอกเวลาได้ถึง 3 ไทม์โซน คือ เวลาบนฝั่งที่ออกเรือมา แสดงแบบ 24 ชั่วโมง ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาบนผืนหน้าปัดหลัก ต่อด้วยเวลาของท่าเรือปลายทางแสดงแบบ 24 ชั่วโมง ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และเวลาท้องถิ่นปัจจุบันซึ่งจะแสดงบนหน้าปัดหลัก ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยมีหน้าปัดบอกวินาทีขนาดเล็กอยู่ข้างๆ ทั้งหมดเป็นการบอกด้วยเข็มแบบเรกูเลเตอร์ทั้งสิ้น ส่วนเข็มนาทีจะบอกด้วยเข็มใหญ่ซึ่งมีแกนอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางของผืนหน้าปัด และยังมีหน้าปัดขนาดใหญ่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาซึ่งแสดงมาตรกำลังสำรองด้วยเข็ม 2 เข็ม คือ เข็มกำลังสำรอง และเข็มไวนดิ้งโซน เพื่อเตือนให้ไขลานนาฬิกาเช่นเดียวกับในนาฬิกาข้อมือด้วย อีกทั้งยังสามารถบอกเวลาแบบเวิลด์ไทม์ได้ด้วยสเกลระบุชื่อเมืองของท่าเรือยอชต์ 24 ท่าทั่วโลกซึ่งถูกสลักอยู่ด้านล่างถัดจากระบบรองรับ Cardanic ที่พิเศษก็คือเจ้าของนาฬิกาสามารถสั่งให้ทาง MONTBLANC แกะชื่อของเมืองที่ต้องการได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเหมือนกับเครื่องของคนอื่น นาฬิกาเครื่องนี้ ทาง MONTBLANC ได้ทำการพัฒนาร่วมกับบริษัท Erwin Sattler clock manufactory ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในการทำนาฬิกาคล็อกระดับสูง กลไกและชิ้นส่วนที่ใช้ถูกประดิษฐ์ขึ้นและขัดแต่งอย่างพิถีพิถันโดยช่างฝีมือชั้นเยี่ยม วีลและเฟืองต่างๆ ถูกชุบด้วยทองอย่างงดงามที่สามารถมองเห็นได้เต็มตาผ่านช่องขนาดใหญ่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ใช้บาร์เรลขนาดใหญ่ ส่งกำลังอย่างราบรื่นและเสถียรให้กับกลไกสวิสเลเวอร์เอสเคปเม้นท์ด้วยระบบฟิวเซ (Fuseau transmission) ตัวบาลานซ์ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง สามารถมองเห็นได้ผ่านทางช่องขนาดเล็กที่ตำแหน่ง 1 นาฬิกา 

 

 

Villeret 1858 Collection

Vintage Tachydate

 

Unknown

 

นาฬิการุ่นใหม่ Vintage Tachydate จากคอลเล็คชั่น Villeret 1858 รุ่นนี้ ถูกทำออกมาในสไตล์ย้อนยุคที่นำเอารูปแบบของนาฬิกาที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับโลกแห่งความเร็วทางรถยนต์ในยุคเริ่มแรกเมื่อต้นศตวรรษก่อนมาตีความใหม่ในแบบฉบับของตน ออกมาเป็นนาฬิกาโครโนกราฟตัวเรือนขนาด 43.5 มิลลิเมตร พร้อมฟังก์ชั่นบอกวันที่รุ่นแรกของคอลเล็คชั่น Villeret 1858 ด้วยรูปลักษณ์และรูปแบบที่รำลึกมาจากนาฬิกาข้อมือกลไกคอลัมน์วีลโครโนกราฟรุ่นแรกที่ Minerva (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงงาน Villeret ของ MONTBLANC) เคยผลิตขึ้นเมื่อครั้งอดีต Vintage Tachydate ทำงานด้วยเครื่องไขลานโครโนกราฟอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ Calibre MB M16.32 ชิ้นส่วน 268 ชิ้น 22 จิวเวล กำลังสำรอง 50 ชั่วโมง เดินด้วยความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง สั่งการด้วยปุ่มกดแบบโมโนพุชเชอร์ที่บิลท์อินอยู่บนเม็ดมะยม บอกวันที่ด้วยเข็มชี้ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ในขณะที่เคาน์เตอร์จับเวลา 30 นาที และเคาน์เตอร์วินาที อยู่ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และ 9 นาฬิกา ตามลำดับ และที่ขาดไม่ได้ก็คือมาตรทาคีมิเตอร์ 2 สเกล บนขอบหน้าปัด ส่วนแผ่นหน้าปัดที่ทำจากทองนี้ก็มีลูกเล่นซ่อนอยู่ด้วยการเล่นระดับแบบ 3 มิติในวงเคาน์เตอร์ต่างๆ และส่วนกลางของหน้าปัดด้วย เพลทและบริดจ์ของเครื่องทำจากนิกเกิ้ลซิลเวอร์ซึ่งสามารถมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังขันเกลียวกรุแซฟไฟร์คริสตัล ใช้บริดจ์โครโนกราฟทรงตัว V ซึ่งเป็นรูปแบบของ Minerva เอง นาฬิการุ่นนี้จะถูกผลิตขึ้นในแบบลิมิเต็ดซีรี่ส์ในจำนวนที่อ้างอิงกับตัวเลข 1858 ซึ่งเป็นเลขของปี ค.ศ. ที่ Minerva ก่อตั้งขึ้น นั่นก็คือ ตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k หน้าปัดสีเงิน 58 เรือน และตัวเรือนเร้ดโกลด์ 18k หน้าปัดเคลือบแลคเกอร์สีงาช้างอีก 58 เรือน กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลทรงโดม สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้ 

 

 

Nicolas Rieussec Chronograph Open Hometime 

20120222 35774271

 

หลังจากที่ได้ออกนาฬิกา Nicolas Rieussec Chronograph รุ่นพิเศษเพื่อฉลองครอบรอบวาระ 190 ปี ของเครื่องเขียนเวลาที่เรียกว่าโครโนกราฟเครื่องแรกของโลกซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในปี 1821 โดยช่างนาฬิกาชาวฝรั่งเศสนาม Nicolas Rieussec ในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นไปแล้วเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา มาถึงปี 2012 นี้ ทาง MONTBLANC ก็ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ให้กับคอลเลคชั่นนาฬิกา Nicolas Rieussec ของตนอีกครั้ง ด้วยรุ่น Nicolas Rieussec Chronograph Open Hometime ที่บรรจุเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติคอลัมน์วีลโครโนกราฟอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ล่าสุด Calibre MB R210 ชิ้นส่วน 295 ชิ้น 40 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง บาร์เรลคู่ ให้กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการแสดงค่าเวลาไทม์โซนที่ 2 ด้วยแผ่นดิสก์แทนที่การบอกเวลาด้วยเข็มที่ 2 ในรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับวิธีการบอกวินาทีกับนาทีจับเวลาด้วยจานดิสก์ 2 จาน ติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเฉพาะตัวที่ 8 นาฬิกาและ 4 นาฬิกา พร้อมกับปุ่มกดโมโนพุชเชอร์ที่ตำแหน่ง 8 นาฬิกา อันมีวิธีการทำงานและรูปแบบที่แตกต่างจากนาฬิกาโครโนกราฟโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงทำให้นาฬิการุ่นใหม่นี้ทวีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นไปอีกระดับ บรรจุอยู่ในตัวเรือนเร้ดโกลด์ (5N) 18k ขนาด 43 มิลลิเมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน ฝาหลังขันเกลียวกรุแซฟไฟร์คริสตัลมองเห็นเครื่องที่ได้รับการขัดแต่งอย่างประณีต สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีด

 

พื้นหน้าปัดของนาฬิการุ่นใหม่นี้มาในสีแอนทราไซต์แกะลายบาร์เล่ย์คอร์นกิโยเช่ (grain d’orges) ล้อมรอบหน้าปัดย่อยทั้ง3 ซึ่งถูกวางเลย์เอ้าท์ในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของคอลเลคชั่นเช่นเดิม โดยครั้งนี้บนด้านในถัดจากวงชั่วโมงของหน้าปัดบอกเวลาซึ่งวางเยื้องศูนย์กลางไปทางด้านบนนั้นถูกเจาะช่องเพื่อให้เห็นดิสก์ 12 ชั่วโมงที่ทำหน้าที่แสดงเวลาที่ 2 อันเป็นเวลาโฮมไทม์ซึ่งชี้บอกค่าด้วยอินดิเคเตอร์ทรงสามเหลี่ยมแต้มสีแดง ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาของหน้าปัดบอกเวลา เจาะช่องบอกกลางวัน/กลางคืนของเวลาโฮมไทม์ด้วยสีขาวกับสีน้ำเงินภายใน ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ส่วนวันที่จะแสดงในช่องหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา โดยจะเป็นวันที่ของไทม์โซนหลัก ส่วนช่องขนาดใหญ่ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทั้ง 3 หน้าปัดนั้น จะสามารถมองเห็นชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ได้แก่ เวอร์ติคัล คัพปลิ้ง สกรูว์บาลานซ์ ขดแฮร์สปริง และเอสเคปวีลได้อย่างชัดเจน อีกฟังก์ชั่นหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมากก็คือ เมื่อผู้สวมใส่เดินทางเข้าสู่ไทม์โซนถัดไป จะสามารถตั้งเข็มชั่วโมงไปข้างหน้าทีละชั่วโมงได้อย่างง่ายดายด้วยการหมุนเม็ดมะยมเพื่อตั้งเข็มชั่วโมงเพียงอย่างเดียวโดยจะไม่ส่งผลกระทบกับการเดินตามปกติของนาฬิกาในขณะนั้นแต่อย่างใด

 

 

Star Classique Automatic

 

Unknown 1

 

Star Classique Automatic รุ่นนี้มาในมาดนาฬิกาเรือนบางเรียบหรูสไตล์คลาสสิกซึ่งถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “less is more” โดยเข้ามาเพิ่มทางเลือกให้กับคอลเลคชั่น Star ของแบรนด์ ตัวเรือนทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 มิลลิเมตร หนา 8.9 มิลลิเมตร เกลี้ยงเกลาหมดจดทำจากวัสดุทองคำ กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลทรงโดมเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน ฝาหลังกรุแซฟไฟร์คริสตัลเผยให้เห็นบาลานซ์สีทองของเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre MB 4810/408 27 จิวเวล กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ที่เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ด้านหน้าเรียบง่ายด้วยหน้าปัดสีไวท์ซิลเวอร์ที่บอกเพียงชั่วโมงกับนาทีและบอกวินาทีในวงวินาทีเล็กซึ่งมีสัญลักษณ์ดาวมงต์บลองค์อยู่ด้านในด้วยเข็มทรงใบไม้เคลือบทอง หลักชั่วโมงเคลือบทองแซมด้วยเลขอารบิกเคลือบทอง 4 ตำแหน่ง สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้ มีให้เลือกในตัวเรือนเร้ดโกลด์ 18k เยลโล่ว์โกลด์ 18k ตัวเรือนสตีลที่มีขอบตัวเรือนกับเม็ดมะยมเป็นเร้ดโกลด์ 18k และตัวเรือนสตีล

 

 

TimeWriter II Chronographe Bi-Frequence 1,000

 Unknown 2

 

การจับเวลาให้ได้ความละเอียดถึง 1/1,000 ของวินาทีนั้น จะต้องใช้กลไกที่มีความถี่ในการทำงานสูงถึง 3.6 ล้านครั้งต่อชั่วโมง หรือ 500 เฮิร์ตซ์ ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้ผลิตนาฬิกาจักรกลรายใดจะสามารถสร้างขึ้นมาได้ แต่ MONTBLANC เป็นผู้ผลิตนาฬิกาอีกรายหนึ่งที่ได้ก้าวเข้าสู่ศาสตร์แห่งความแม่นยำระดับสูงลิบนี้ด้วยการเปิดตัวนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟรุ่น TimeWriter II Chronographe Bi-Frequence 1,000 ที่สามารถจับเวลาด้วยความละเอียดในระดับ 1/1,000 วินาที โดยใช้บาลานซ์ที่มีความถี่เพียง 50 เฮิร์ตซ์อีกต่างหากด้วยฝีมือของช่างนาฬิกามือฉมังเชื้อสายสเปน Bartomeu Gomila (ดังนั้นจึงมีชื่อของเขาอยู่บนหน้าปัดนาฬิการุ่นนี้ด้วย) โดยมีปรมาจารย์ Demetrio Cabiddu แห่งโรงงาน Minerva ของ MONTBLANC ที่ Villeret เป็นผู้ดูแลโปรเจ็คต์ เพื่อให้ความเป็น TimeWriter หรือผู้เขียนเวลาของ MONTBLANC ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์

 

นาฬิกาโครโนกราฟรุ่นนี้ใช้ปุ่มกดจับเวลาแบบโมโนพุชเชอร์ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งเป็นความตั้งใจออกแบบเพื่อให้มีลักษณะเดียวกับนาฬิกาจับเวลาแบบอัลตร้าฟาสต์ที่ Minerva สร้างขึ้นในปี 1936 ซึ่งเป็นผลงานที่ถูกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ้คออฟเรคอร์ดส เครื่องไขลานคอลัมน์วีลโครโนกราฟที่คิดค้นมาเป็นพิเศษและนำมาบรรจุลงในนาฬิการุ่นนี้มีชื่อว่า Calibre MB TW 02 ประกอบด้วยชิ้นส่วน 472 ชิ้น 45 จิวเวล ขับเคลื่อนบอกเวลาปกติด้วยเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีกลางเช่นเดียวกับนาฬิกาทั่วไป และมีจานดิสก์แซฟไฟร์คริสตัลทำหน้าที่หมุนเพื่อแสดงวินาทีโดยชี้บอกค่าด้วยอินเด็กซ์รูปสามเหลี่ยม ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ซึ่งจะทำงานด้วยบาลานซ์ขนาดใหญ่ที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 2.5 เฮิร์ตซ์ ติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 7 นาฬิกาซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ผ่านทางผืนหน้าปัดสีเทาแอนทราไซต์ที่มาในแบบสเกเลตันที่ใช้ 

 

Unknown 3

 

มาดูชุดกลไกโครโนกราฟซึ่งเป็นไฮไลต์ของนาฬิการุ่นนี้กันบ้าง เมื่อมองไปที่ตำแหน่ง 10.30 นาฬิกา จะเห็นบาลานซ์ขนาดเล็กของกลไกโครโนกราฟซึ่งมีความถี่ในการทำงานอยู่ที่ 360,000 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 50 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเร็วจนกระทั่งยากที่จะมองเห็นการทำงานของมันได้ด้วยตาเปล่านอกจากจะได้ยินเสียงการทำงานเบาๆ ของมันเท่านั้น สเกล 100 ที่อยู่บนขอบหน้าปัดจะทำหน้าที่บอกค่าจับเวลาในระดับ 1/100 ของวินาที ซึ่งชี้บอกด้วยเข็มกลางสีแดงซึ่งจะหมุนวินาทีละ 1 รอบ ส่วนเคาน์เตอร์ 2 วงซึ่งซ้อนกันอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกานั้น วงนอกที่เป็นสเกล 60 วินาทีจะทำหน้าที่บอกวินาทีจับเวลาด้วยเข็มสีดำปลายแดง ส่วนวงในที่เป็นสเกล 05-10-15 จะทำหน้าที่บอกนาทีจับเวลาด้วยเข็มสั้นสีแดงซึ่งก็หมายความว่าสามารถแสดงค่าการจับเวลาได้นานที่สุดที่ 15 นาที และค่าความละเอียดสูงสุดในระดับ 1/1,000 ของวินาทีนั้นจะชี้บอกค่าในสเกลจาก N (neutral) ผ่าน 0 ไปจนถึง 9 ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาด้วยเข็มปลายศรสีแดง ส่วนในช่องที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกานั้น เข็มสีแดงจะทำหน้าที่บอกกำลังสำรองของกลไกโครโนกราฟ ซึ่งเมื่อขึ้นลานเต็มจะสามารถทำงานได้อย่างต่ำ 45 นาที สำหรับค่าการจับเวลาขอยกตัวอย่างการอ่านค่าจากบนหน้าปัดในภาพด้านล่างเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย โดยหน้าปัดนาฬิกาในภาพขณะนี้กำลังแสดงค่าการจับเวลาที่ 2 นาที 20.139 วินาที ในขณะที่ยังเหลือกำลังสำรองของกลไกโครโนกราฟอีกราว 30 นาที

 

Unknown 4

 

การที่กลไกนี้สามารถบอกค่าในระดับ 1/1,000 ของวินาทีได้นั้นเกิดจากการที่นำเอากลไกโครโนกราฟซึ่งทำงานที่ความถี่ 50 เฮิร์ตซ์มาประยุกต์ให้สามารถส่งกำลังไปหมุน “thousandths wheel” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ thousandths wheel นี้จะหมุนรอบแกนของตัวเองด้วยระดับความเร็ว 10 รอบต่อวินาทีซึ่งจะทำให้เกิดความละเอียดในระดับ 10 เท่าของ 1/100 ของวินาทีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาความถี่การทำงานของกลไกโครโนกราฟในระดับ 500 เฮิร์ตซ์แต่อย่างใด การทำงานของกลไกโครโนกราฟทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยคอลัมน์วีลแบบ 2 ระดับ โดยระดับแรกจะเป็นการสั่งการการเริ่ม หยุด และรีเซ็ต และระดับที่สองจะทำการควบคุม thousandths wheel ส่วนประกอบและการทำงานของกลไกนี้ได้ทำการจดสิทธิบัตรหลักไปแล้ว 2 ฉบับ พร้อมสิทธิบัตรย่อยอีก 22 ฉบับด้วยกัน การขึ้นลานตามเข็มนาฬิกาจะเป็นการขึ้นลานของกลไกบอกเวลาซึ่งจะมีกำลังสำรองราว 100 ชั่วโมง ส่วนการขึ้นลานทวนเข็มนาฬิกาจะเป็นการขึ้นลานของกลไกโครโนกราฟซึ่งจะมีกำลังสำรองราว 45 นาทีโดยสามารถทำการขึ้นลานเพิ่มขณะที่กลไกโครโนกราฟกำลังทำงานได้ด้วย 

 

ตัวเรือนของนาฬิกาสุดพิเศษรุ่นนี้มีขนาด 47 มิลลิเมตร ในวัสดุไวท์โกลด์ 18k ใช้เม็ดมะยมทรงหัวหอมฝังตราดวงดาวมงต์บลองค์ทำจากเปลือกหอยมุกบนยอด มีปุ่มกดจับเวลาทรงแปลกตาแต่กลมกลืนกับตัวเรือนอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล ฝาหลังขันเกลียวกรุแซฟไฟร์คริสตัลให้มองเห็นความงามของเครื่องและชิ้นส่วนต่างๆ ที่ขัดแต่งด้วยมือ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำเดินด้ายคู่สีแดง สุดยอดนาฬิกาโครโนกราฟรุ่นนี้จะถูกผลิตขั้นในจำนวนจำกัดเพียง 36 เรือน เท่านั้น ซึ่งตัวเลข 36 นั้น นำมาจากตัวเลขปี ค,ศ. 1936 ซึ่งเป็นปีที่ Minerva สร้างนาฬิกาจับเวลาแบบอัลตร้าฟาสต์ขึ้นมานั่นเอง

 

 

TimeWalker TwinFly Chronograph Grey Tech

 

 Unknown 5

 

TimeWalker เป็นคอลเล็คชั่นนาฬิกาที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกคอลเล็คชั่นหนึ่งของ MONTBLANC โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเอง และหลังจากที่ปล่อย TimeWalker TwinFly Chronograph ในตัวเรือนสตีล และเวอร์ชั่นลิมิเต็ดเอดิชั่นในตัวเรือนไทเทเนียม มาให้แฟนๆ ได้ชื่นชมกันไปแล้วเมื่อปี 2011 มาปีนี้ก็ถูกต่อยอดด้วยการปรับโฉมปรุงแต่งออกมาใหม่เป็น TimeWalker TwinFly Chronograph Grey Tech ในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นจำนวน 888 เรือน ด้วยโทนสีเทาแบบโมโนโครมโดยไล่เฉดตั้งแต่สีมิดไนท์แบล็กจนถึงสีเทาเงินและสีขาว ตัวเรือนขนาด 43 มิลลิเมตรทำจากไทเทเนียมน้ำหนักเบาขัดซาตินพ่นมุกทำให้ดูมีมิติโดดเด่นกว่าที่เคย กระจกหน้าปัดทรงโดมทำจากแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน แน่นอนว่าหน้าปัดก็จะต้องเป็นสีเทาเช่นกัน โดยเล่นสีเป็นระดับต่างๆ กัน มีการเปิดช่องให้เห็นจานดิสก์บอกวันที่ที่ทำพื้นเป็นสีเทาเช่นกัน เข็มชั่วโมงกับนาทีเป็นสีเทาแอนทราไซต์ เข็มสีเทาแอนทราไซต์เข้มปลายเข็มสีเทาอ่อนจะเป็นเข็มวินาทีจับเวลา ส่วนเข็มสีเทาอ่อนปลายเข็มสีเทาแอนทราไซต์เข้มเป็นเข็มนาทีจับเวลา บอกวันที่ในช่องหน้าต่าง ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา มีหน้าปัดย่อยบอกเวลาไทม์โซนที่ 2 แบบ 24 ชั่วโมง ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และมีหน้าปัดวินาทีเล็กอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา สวมใส่คู่กับสายจระเข้สีเทาแอนทราไซต์

 

Unknown 6

 Calibre MB LL100

 

เครื่องที่ใช้ในนาฬิกาเวอร์ชั่นใหม่นี้ยังคงเป็นเครื่องอินเฮ้าส์ขึ้นลานอัตโนมัติคอลัมน์วีลโครโนกราฟ Calibre MB LL100 36 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง มีบาร์เรล 2 กระปุกให้กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง ซึ่งมาพร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็คที่บอกค่าการจับเวลาเป็นวินาทีกับนาทีด้วยเข็มกลาง 2 เข็มเหมือนเช่นรุ่นพี่ของมันอันเป็นที่มาของชื่อรุ่นว่า TwinFly ซึ่งในครั้งนี้ได้นำชิ้นส่วนต่างๆ มาทำสีให้เข้ากับธีมของรุ่นพิเศษนี้ อาทิ เพลทบริดจ์กับโรเตอร์แกะสเกเลตันชุบโรเดียมสีเทาเข้มที่ช่วยขับให้วีลสีทอง บลูด์สกรูว์ และทับทิมสีแดง เปล่งความเจิดจรัสยิ่งขึ้นยามชื่นชมผ่านทางกระจกแซฟไฟร์คริสตัลที่กรุบนฝาหลัง

 

 

TimeWalker ChronoVoyager UTC

 Unknown 7

 ปิดท้ายด้วย TimeWalker ChronoVoyager UTC ที่มากับเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชั่นบอกเวลา UTC Calibre MB4810/503 25 จิวเวล กำลังสำรอง 46 ชั่วโมง ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง บอกเวลาไทม์โซนที่ 2 แบบ 24 ชั่วโมงด้วยเข็มกลาง มีจานดิสก์ขนาดเล็กติดปลายเข็มชี้บอกวินาที ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา บอกวันที่ในหน้าต่าง ณ ตำแหน่งราว 4 นาฬิกา มีเคาน์เตอร์จับเวลา 12 ชั่วโมง ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และเคาน์เตอร์ 30 นาที ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ในตัวเรือนสตีลขนาด 43 มิลลิเมตร ขอบตัวเรือนและปุ่มกดทำจากไทเทเนียม กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ฝาหลังกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัล หน้าปัดสีแอนทราไซต์ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำ

 

 

By: Viracharn T.