LMSE นาฬิการุ่นใหม่จากตระกูลคอลเลคชั่น Legacy Machine ของ MB&F

 

นาฬิกาจากผู้ผลิตอิสระหรือที่เรียกว่าอินดีเพนเด้นท์ คือสิ่งคนรักนาฬิกาชาวไทยจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและมีไว้ในครอบครอง ซึ่ง MB&F ก็เป็นอีกแบรนด์อินดีเพนเด้นท์อันดับต้นๆ ที่อยู่ในความสนใจของพวกเขาเหล่านั้น ลูกค้าในประเทศไทยจึงไม่เคยต้องรอกันนาน เพราะทันทีที่ MB&F เปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่ๆ พวกเขาก็ส่งเข้ามาให้คนรักนาฬิกาชาวไทยได้เชยชมกันอย่างรวดเร็วไม่แพ้ชาติใดในโลก และ LMSE ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่พร้อมให้ชาวไทยได้เป็นเจ้าของในแทบจะทันทีที่มีการเปิดตัวสู่สายตาชาวโลก

 

 

LM Split Escapement WG Blue Face Lres

 

LMSE (Legacy Machine Split Escapement) BLUE เบสเพลทเคลือบสีน้ำเงิน กลไกเคลือบโรเดียม ให้อารมณ์งามสง่าสไตล์คลาสสิก สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีดำ

 

LM Split Escapement Engine WG Blue Lres

 

LM Split Escapement WG Blue Back Lres

 

 

LMSE เผยโฉมพร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา โดยอักษร ‘SE’ ที่ต่อท้าย LM นั้นหมายถึง ‘Split Escapement’ อันเป็นรูปแบบของชุดเอสเคปเม้นท์ ที่แยกตัว ‘บาลานซ์วีล’ ออกจากชิ้นส่วนอื่นๆ ของชุดเอสเคปเม้นท์ เพื่อให้ตัวบาลานซ์วีลขนาดใหญ่ถึง 14 มม. แขวนลอยเด่นอย่างน่าพิศวงอยู่กับบริดจ์สองขาทรงโค้งมนในลักษณะของ ‘ฟลายอิ้ง บาลานซ์วีล’ อยู่เหนือกลไกและหน้าปัด ภายใต้โดมกระจกหน้าปัดแซฟไฟร์ที่เคลือบสารลดแสงสะท้อนมาทั้ง 2 ด้าน ขณะที่ ‘แองเคอร์’ และ ‘เอสเคปวีล’ นั้นถูกติดตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของตัวกลไก นั่นเท่ากับว่าก้านเพลา ‘เอสเคปเม้นท์ชาฟท์’ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างบาลานซ์วีลกับแองเคอร์และเอสเคปวีล จะต้องมีความยาวมากๆ ซึ่งความยาวเกือบ 12 มม. นี้ก็น่าจะยาวที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในกลไกนาฬิกาเลยทีเดียว

 

LMSE ถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ต่อยอดมาจากรุ่น LM Perpetual ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2015 ด้วยความที่มีลักษณะบางอย่างซึ่งสืบเนื่องกันมา อันเป็นผลงานการพัฒนากลไกของทีม MB&F ที่ทำร่วมกับนักประดิษฐ์นาฬิกานาม Stephen McDonnell เช่นเดียวกันกับกลไกของรุ่น LM Perpetual สิ่งที่เหมือนกันของ 2 รุ่นนี้ก็คือ ลักษณะกลไกแบบ “สปลิต เอสเคปเม้นท์” ที่ออกแบบให้บาลานซ์วีลแขวนลอยอยู่ทางด้านบน ขณะที่ แองเคอร์ กับ เอสเคปเม้นท์วีล นั้นซ่อนตัวอยู่ฝั่งด้านล่างของเพลทกลไก

 

เหตุที่ทาง MB&F ตัดสินใจสร้าง LMSE ขึ้นมาก็คือ พวกเขาต้องการให้ชุดกลไกแบบ ‘สปลิต เอสเคปเม้นท์’ นี้รับบทนำ ด้วยความที่ลักษณะของ LM Perpetual ที่สร้างขึ้นมาก่อนนั้นมาพร้อมกับคอมพลิเคชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์แสดงค่าปฏิทินด้วยเข็มโดยจัดวางกลไกของคอมพลิเคชั่นนี้อยู่เหนือแผ่นเบสเพลท ซึ่งทำให้มีความโดดเด่นบดบังความพิเศษอันน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งของระบบกลไกแบบ ‘สปลิต เอสเคปเม้นท์’ ไป LMSE จึงถูกสร้างขึ้นมาด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ได้สมดุลย์ด้วยวงหน้าปัด 3 ชุด เพื่อให้บาลานซ์วีลที่แขวนลอยอยู่กับบริดจ์สามขาทรงโค้งเป็นจุดนำสายตา ขณะที่พื้นฐานของกลไกและตัวเรือนขนาด 44 มม. ที่ใช้นั้นยังเป็นแบบเดียวกับรุ่น LM Perpetual

 

LMSE ติดตั้งหน้าปัดแล็กเกอร์สีขาวขนาดเล็กมา 3 ชุด ทำหน้าที่แยกกันแสดงเวลาเป็นชั่วโมงกับนาที แสดงกำลังสำรอง และแสดงวันที่ ด้วยเข็มสีน้ำเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ในการใช้งานนาฬิกามากที่สุด หน้าปัดทั้งสามถูกติดตั้งลงบนแผ่นเบสเพลทของกลไกซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นหน้าปัดหลักไปในตัวโดยเปล่งประกายงดงามยามต้องแสงด้วยการตกแต่งแบบ ‘ฟรอสต์’ ซึ่งเป็นเทคนิคการตกแต่งรูปแบบคล้ายเกล็ดน้ำแข็งอย่างละเอียดพิถีพิถันด้วยมือ อันเป็นลักษณะที่ใช้กับรุ่น LM 101 ‘Frost’ Edition นั่นเอง

 

 

LM Split Escapement WG Red Profile Lres

 

LMSE (Legacy Machine Split Escapement) RED เบสเพลทและกลไกเคลือบสีเร้ดโกลด์ มอบความงามหรูแบบอบอุ่น สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาล

 

LM Split Escapement Engine WG Red Lres

 

LM Split Escapement WG Red Back Lres

 

 

การตกแต่งรูปแบบ ‘ฟรอสต์’ เป็นรูปแบบอันเก่าแก่ที่ใช้กับกลไกของนาฬิกาพกสมัยยุคศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ซึ่งด้วยความที่นาฬิกาคอลเลคชั่น Legacy Machine นี้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากนาฬิกาสมัยปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 รูปแบบการตกแต่งเช่นนี้จึงถูกนำกลับมาใช้ แต่แทนที่จะอาบด้วยน้ำกรดเหมือนกับสมัยก่อน ก็ได้พัฒนามาเป็นการขัดผิวโลหะด้วยแปรงลวดอย่างพิถีพิถันด้วยมือแทน โดยค่อยๆ ทำให้เกิดรอยเล็กละเอียดขนาดเท่าๆ กัน ทีละส่วนจนทั่วชิ้นงาน เพื่อให้เกิดพื้นผิวที่งดงามในลักษณะเดียวกับเทคนิคแบบดั้งเดิม

 

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของกลไกที่ใช้กับ LMSE ก็คือ ฟังก์ชั่นวันที่ซึ่งสามารถปรับตั้งได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเพียงกดปุ่มสั่งการที่ด้านซ้ายของตัวเรือน ณ บริเวณใกล้กับหน้าปัดวันที่ ทั้งยังออกแบบให้กลไกการปรับตั้งนี้ปลดการเชื่อมต่อกับกลไกในช่วงเที่ยงคืนอันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรปรับตั้งวันที่ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับกลไกไขลานกำลังสำรอง 72 ชั่วโมง ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง เครื่องนี้ หากเผลอหรือบังเอิญไปกดปุ่มในช่วงเวลานั้นเข้า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากคอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้ใช้งานนาฬิกาได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และปลอดภัยที่สุด

 

 

LM Split Escapement WG Ruthenium Front Lres

 

LMSE (Legacy Machine Split Escapement) GREY (Ruthenium) เบสเพลทเคลือบสีเทารูเธเนี่ยม กลไกเคลือบสีเทา ให้อารมณ์โมเดิร์น สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาล

 

LM Split Escapement Engine WG Ruthenium Lres

 

LM Split Escapement WG Ruthenium Back Lres

 

 

LMSE เปิดตัวสี่เอดิชั่นแรก ด้วยการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงเอดิชั่นละ 18 เรือน ในตัวเรือนไวท์โกลด์ ขนาด 44 มม. โดยความแตกต่างของแต่ละเอดิชั่นนั้น อยู่ที่ สีน้ำเงิน สีเทารูเธเนี่ยม สีเร้ดโกลด์ หรือสีเยลโลว์โกลด์ ของเบสเพลทซึ่งเกิดจากการเคลือบพีวีดี อักทั้งตัวกลไกที่ขัดแต่งลาย ‘เจนีวา เวฟ’ มาอย่างสวยงามก็ถูกเคลือบเป็นโทนสีเดียวกับเบสเพลทของแต่ละเอดิชั่นด้วย ยกเว้นเอดิชั่นสีน้ำเงินที่ตัวกลไกนั้นเคลือบด้วยโรเดียม

 

 

LM Split Escapement WG Yellow Front Lres

 

LMSE (Legacy Machine Split Escapement) YELLOW เบสเพลทและกลไกเคลือบสีเยลโลว์โกลด์ มอบความงามหรูในแบบฉบับดั้งเดิมของนาฬิกาทองคำ สวมคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาล

 

LM Split Escapement Engine WG Yellow Lres

 

LM Split Escapement WG Yellow Back Lres

 

 

มีจำหน่ายที่ พีเอ็มที เดอะ อาวร์ กลาส บูติก ชั้น 1 เกษรวิลเลจ และชั้น M ศูนย์การค้า สยามพารากอน

 

By: Viracharn T.