TOMORROW COMES TODAY?

 

หากคุณเหลือบไปเห็นคนข้างๆ ในงานเลี้ยงอะไรสักงานเค้าคาดนาฬิกา MAURICE LACROIX อยู่บนข้อมือ คุณจะคิดว่าเค้าเป็นคนอย่างไรครับ สมถะ ช่างเลือก หรือ ฉลาดเลือก มาทำความรู้จักกับแบรนด์นี้เพิ่มขึ้นอีกนิดเถอะครับ แล้วคุณคงจะหาคำตอบได้เองกับแบรนด์ที่เคยใช้สโลแกนว่า Tomorrow’s Classic ในครั้งอดีตจนก้าวขึ้นมาสู่แบรนด์ระดับมานูแฟคตูร์ในปัจจุบันแบรนด์นี้ (ทุกวันนี้เค้าเรียกตัวเองว่าอย่างนั้นนะครับ) ว่านาฬิกาของเขามีความน่าสนใจมากน้อยเพียงไร

 

MAURICE LACROIX เป็นแบรนด์นาฬิกาสวิสที่แรกเริ่มกำเนิดนั้นเกิดมาเพื่อผลิตนาฬิการาคาปานกลางทั้งแบบสำหรับผู้ชายและผู้หญิงเป็นสินค้าหลัก เป็นนาฬิกาสำหรับสวมใส่ประจำวันของคนระดับกลาง และก็เป็นที่นิยมทีเดียวในสมัยก่อน ดูจากยอดการผลิตเมื่อปี 2002 ที่มีถึง 300,000 เรือนด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในสมัยนั้นก็ยังใช้เครื่องควอตซ์อยู่ แต่การที่แบรนด์ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1975 แบรนด์นี้สามารถทำยอดได้ประมาณนี้ในเวลานั้นก็น่าจะจัดว่าอยู่ในขั้นใช้ได้ดีเลยทีเดียว จุดเริ่มต้นของการพลิกผันด้านการดำเนินการของแบรนด์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1989 เมื่อทางแบรนด์ได้ตัดสินใจซื้อโรงงานผลิตตัวเรือนแห่งหนึ่งในแถบเทือกเขาจูราซึ่งก็เป็นเขตเดียวกับบ้านเกิดของตนมาไว้ในครอบครองเพื่อทำการผลิตตัวเรือนใช้เอง และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางแบรนด์อยากจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ผลิตนาฬิกาอย่างแท้จริงก็เป็นได้

 

ความชัดเจนแห่งแนวทางของแบรนด์ในปัจจุบันเปิดเผยออกสู่สายตาผู้คนเป็นครั้งแรกในงาน Baselworld 2006 ด้วยเครื่องอินเฮ้าส์ Calibre ML106 ที่บรรจุอยู่ในนาฬิกาโครโนกราฟในคอลเลคชั่น Masterpiece ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นสูงสุดของแบรนด์ ถือเป็นการประกาศศักดิ์ศรีความเป็นผู้ผลิตนาฬิการะดับมานูแฟคตูร์เป็นครั้งแรกของแบรนด์และเป็นการเลื่อนชั้นจากการเป็นผู้ผลิตนาฬิกาธรรมดาๆ เข้าสู่การเป็นผู้ผลิตนาฬิกาจักรกลด้วยตนเองอย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งคงต้องยกให้เป็นผลงานของ Philippe Merk ผู้เป็นซีอีโอของแบรนด์ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ก่อนที่จะลาออกในปี 2008 เพื่อไปอยู่กับ AUDEMARS PIGUET ในช่วงต้นปี 2009 ทุกวันนี้นาฬิกาที่แบรนด์ผลิตขึ้นกว่า 3 ใน 4 จะใช้เครื่องจักรกลทั้งหมดแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมีเพียงนาฬิกาสำหรับสุภาพสตรีบางรุ่นเท่านั้นที่ยังใช้เครื่องควอตซ์อยู่ 

Masterpiece le chronographe ML106

Masterpiece Le Chronographe

ตัวเรือนสตีลขนาด 45 มิลลิเมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลทรงโดม ฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลมองเห็นกลไกไขลาน คอลัมน์วีลโครโนกราฟ อินเฮ้าส์ Cal. ML106-2 ทับทิม 20 เม็ด บริดจ์และสกรูว์ทำพีวีดี

ที่ขัดแต่งรายละเอียดให้สวยด้วยมือ ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง จับเวลาได้ 60 นาที ชี้ค่านาทีจับเวลาและวินาทีด้วยจานดิสก์สีเงินที่มีปลายยื่นออกมาเป็นรูปเข็ม

หน้าปัดสีแอนทราไซต์ในวงชั้นในและสีดำที่วงตัวเลขของหน้าปัดย่อย กันน้ำได้ที่ระดับ 100 เมตร มากับสายหนังจระเข้แท้ที่ตัดเย็บด้วยมือ

 

 

mp7158 ss001

 

Masterpiece Regulateur Roue Carree      

 

 

ML Double Retrograde 2008

 

Masterpiece Double Retrograde Limited Edition

ตัวเรือนโรสโกลด์ 18 เค ขนาด 46 มิลลิเมตร กลไกไขลาน อินเฮ้าส์ Cal. ML151 ใช้ทับทิม 52 เม็ด สกรูว์ยึดกลไกเป็นบลูด์สตีล

สามารถมองเห็นกลไกที่ขัดแต่งด้วยมือนี้ได้ผ่านฝาหลังขันเกลียวกรุแซฟไฟร์คริสตัล กันน้ำได้ลึก 50 เมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล

บอกชั่วโมงและนาทีด้วยเข็มกลางตามปกติ แต่มีเข็มเรโทรกราดบอกเวลา จีเอ็มที 24 ชั่วโมง ซึ่งใช้สำหรับปรับตั้งเพื่ออ่านค่าไทม์โซนที่สองหรือโฮมไทม์ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา

และบอกวันที่ด้วยเข็มเรโทรกราดที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา มีเข็มบอกวินาทีที่ 9 นาฬิกา และบอกกำลังสำรองที่ 3 นาฬิกา

หน้าปัดสีเงินทำจากโซลิดซิลเวอร์ 925 ติดตั้งหลักชั่วโมงสีโรสโกลด์ ส่วนเข็มต่างๆ จะเป็นสีโรสโกลด์ ยกเว้นเข็มจีเอ็มทีกับเข็มวันที่ซึ่งถูกเคลือบด้วยแบล็คโกลด์

มากับสายหนังจระเข้แท้สีดำ รุ่นนี้เป็นรุ่นพิเศษ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัด 250 เรือน ซึ่งผลิตออกมาในปี 2008

 

สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้กับการทุ่มเทพัฒนาการผลิตก็คือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้นาฬิกา MAURICE LACROIX ในระยะหลังมีราคาที่สูงขึ้นอย่างรู้สึกได้ชัด อีกทั้งจำนวนการผลิตในปัจจุบันก็ลดลงไปจากเดิมด้วยเพราะต้องใช้เวลาในการผลิตมากขึ้น สำหรับคอลเลคชั่นหลักๆ ของแบรนด์ในปัจจุบัน ที่ท๊อปสุดก็ยังคงเป็น Masterpiece อาทิรุ่น Masterpiece Le Chronographe ที่ใช้เครื่องโครโนกราฟอินเฮ้าส์ ML106-2 และ Masterpiece Regulateur Roue Carree ซึ่งมากับเครื่อง Cal.ML153 แปะโมดูลอันซับซ้อนที่คิดค้นและพัฒนาโดย MAURICE LACROIX เองให้บอกชั่วโมงด้วยวีลทรงสี่เหลี่ยมที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และบอกนาทีด้วยเข็มกลาง อันเป็นรุ่นที่ได้รับรางวัลการออกแบบ Reddot Design Award ประจำปี 2011 และรุ่นดังอย่าง Masterpiece Double Retrograde ที่มีให้เลือกทั้งแบบเครื่องอินเฮ้าส์กลไกอัตโนมัติ Cal.ML191 หรือเครื่องอินเฮ้าส์กลไกไขลาน Cal.ML151 และรุ่นที่ใช้กลไกไขลาน Cal.ML100 ที่ปรับแต่งจากพื้นฐานของ Unitas 6497-1 โดยรุ่นที่ใช้เครื่องอินเฮ้าส์กับรุ่นที่ใช้เครื่อง Unitas จะมีตัวเรือนและหน้าปัดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

ต่อมาก็เป็นคอลเลคชั่นยอดนิยม Pontos ที่คุ้นเคยกันดีในหมู่แฟนๆ ของแบรนด์ นำโดย Pontos Decentrique GMT ที่มีเข็มชั่วโมงและนาทีบอกเวลาพร้อมจานบอกกลางวันกลางคืนของไทม์โซนที่สองบนหน้าปัดของตนเองวางตัวเยื้องกับหน้าปัดบอกเวลาหลักซึ่งเป็นรุ่นที่เคยได้รับรางวัลการออกแบบ Reddot Design Award เมื่อปี 2007 มาแล้ว และรุ่นยอดนิยมอย่าง Pontos Chronographe ที่ใช้เครื่อง Valjoux 7750 มาปรับแต่งใหม่ เป็นต้น สำหรับคุณผู้หญิงที่เด่นๆ ก็มี Les Classiques Phases de Lune Dame Automatique นาฬิกาประดับเพชรกลไกอัตโนมัติ ดิสเพลย์ครบๆ ด้วยคอมพลีทคาเลนเดอร์พร้อมมูนเฟส ที่ดูเข้าทีเมื่อเทียบฟังก์ชั่นกับราคา

 

pontos decentrique GMT

 

Pontos Decentrique GMT

 

 

Maurice Lacroix Pontos Chronographe Valjoux Edition 2011

 

Pontos Chronographe รุ่นที่ใช้กลไกซึ่งปรับแต่งจาก Valjoux 7750

 

 

 

ML les Classique Moon

 

Les Classiques Phases de Lune Dame Automatique

นาฬิกาสุภาพสตรีขนาด 38 มิลลิเมตร ในตัวเรือนสตีลขัดเงาวาวประดับเพชร 72 เม็ด น้ำหนักรวม 0.75 กะรัตบนขอบตัวเรือน กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล กันน้ำได้ 30 เมตร

หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาว หลักชั่วโมงประดับเพชร 12 เม็ด น้ำหนักรวม 0.08 กะรัต

กลไกอัตโนมัติ Cal. ML37 ชี้บอกวันที่ด้วยเข็มกลาง บอกวันและเดือนในช่องหน้าต่างคู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา แสดงมูนเฟสในช่องที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา มาพร้อมสายซาตินสีขาว

 

 

ไม่รู้เหมือนกันว่า Tomorrow ของ MAURICE LACROIX ตามสโลแกนเมื่อก่อนนั้นมาถึงหรือยัง แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้ MAURICE LACROIX หลายๆ รุ่นก็มีสิ่งดีๆ บรรจุอยู่มากมายคุ้มราคาค่าตัวเลยทีเดียว แค่เพียงเลือกให้ถูกรุ่นเท่านั้นล่ะครับ

 

By: Viracharn T.