SIHH 2012 - New pieces from GREUBEL FORSEY & PARMIGIANI FLEURIER

 

เรามาอัพเดตนาฬิการุ่นใหม่ประจำปี 2012 จากงาน SIHH 2012 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมากันต่อกันอีก 2 แบรนด์นะครับ ซึ่งต่างก็เป็นแบรนด์ที่เน้นนวัตกรรมด้านเทคนิคตลอดจนงานขัดแต่งและรายละเอียดด้วยกันทั้งคู่ แต่เป็นในแง่มุมที่ต่างกัน อย่าง GREUBEL FORSEY ก็เป็นแบรนด์ที่มุ่งมั่นกับการพัฒนาเทคนิคกลไกตูร์บิยองเป็นพิเศษ ส่วน PARMIGIANI ก็มีดีไซน์เฉพาะตัวไม่เหมือนใครและชื่นชอบในการใช้เทคนิคต่างๆ มาปรับทำตัวเรือนและหน้าปัดอยู่เสมอ มาชมกันเลยครับว่าปีนี้เค้ามีอะไรใหม่ๆ มาให้ท่านได้เป็นเจ้าของกันบ้าง

 

 

GREUBEL FORSEY

 

แบรนด์นาฬิกาจากถิ่น ลาโชซ์-เดอ-ฟงดส์ ที่ไม่ทำนาฬิกาพื้นๆ แบรนด์นี้ เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีแฟนๆ นาฬิกาในกลุ่มอุดมเทคนิคทั่วโลก เฝ้าคอยชมนวัตกรรมใหม่ๆ ของเขาอยู่เสมอ และปี 2012 นี้ GREUBEL FORSEY ก็คลอดนาฬิการุ่นใหม่และนาฬิการุ่นเดิมเวอร์ชั่นใหม่ประจำปีออกมาเรียกเสียงชื่นชมของแฟนๆ ด้วยกันรวมทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่ GMT นาฬิกาจีเอ็มทีรุ่นแรกของตน (ซึ่งจริงๆ รุ่นนี้ได้เผยโฉมออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2011 ก่อนที่งาน SIHH 2012 จะเริ่มขึ้นแล้ว) Tourbillon 24 Secondes Contemporain นาฬิกา Tourbillon 24 Secones เวอร์ชั่นใหม่ที่ใช้เมนเพลทซึ่งฟินิชด้วยสีรอยัลบลู และ Quadruple Tourbillon Secret ซึ่งเป็น Quadruple Tourbillon เวอร์ชั่นที่ปูแผ่นหน้าปัดเต็มทางด้านหน้าตัวเรือนโดยจะเผยความงามของเครื่องผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลเท่านั้น

 

GMT

 

นาฬิการุ่นนี้ ถือเป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นจีเอ็มทีรุ่นแรกที่ทาง GREUBEL FORSEY ผลิตขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นประดิษฐกรรมของแบรนด์นี้แล้วคงจะไม่ใช่นาฬิกาจีเอ็มทีธรรมดาเป็นแน่ จากความมุ่งมั่นในแนวทางการค้นคว้าพัฒนาขอบเขตความสามารถและรูปแบบแห่งกลไกตูร์บิยองมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านทางนาฬิกาตูร์บิยองสุดพิเศษหลายรุ่นที่ทำขึ้น มาครั้งนี้จึงได้ใส่ฟังก์ชั่นจีเอ็มทีลงไปบนลักษณะกลไกชนิดนี้ที่ตนมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่งพร้อมๆ กับสร้างสรรค์การบอกเวลาของฟังก์ชั่นจีเอ็มทีในรูปแบบใหม่ด้วยการหมุนลูกโลกสามมิติซึ่งเป็นภาพจำลองของพื้นทวีปต่างๆ ของทั้งโลกแบบเสมือนจริง จึงเท่ากับเป็นการให้กำเนิดวิธีการบอกเวลาไทม์โซนต่างๆ ของโลกในรูปแบบใหม่ด้วย

 

UnknownUnknown 1

 

แผ่นหน้าปัดทำจากทองคำ 18k มีลูกโลกซึ่งทำจากไทเทเนียมและถูกยึดไว้ด้วยแกนหมุนเพียงแกนเดียวลอยเด่นอยู่ ณ ตำแหน่ง 8 นาฬิกาของตัวเรือน หมุนทวนเข็มนาฬิกาครบ 1 รอบในทุกๆ 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับความเป็นจริงของโลก การดูเวลาปัจจุบันของแต่ละทวีปนั้นสามารถดูได้จากวงแหวนแสดงชั่วโมง 24 ชั่วโมงซึ่งจะแสดงกลางวัน-กลางคืนอย่างชัดเจนด้วยสีขาว-ดำบนพื้นวงแหวน และนอกจากจะดูจากทางด้านหน้าแล้ว ด้านข้างของตัวเรือนยังมีช่องหน้าต่างให้แสงสว่างสามารถส่องผ่านเข้าไปเพื่อให้ฝั่งเวลากลางวันมีความสมจริงงดงามยิ่งขึ้นและยังทำให้เห็นพื้นทวีปของซีกโลกใต้บนลูกโลกได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

 

Unknown 2

 

การบอกเวลาลักษณะนี้ทำให้สามารถรู้เวลาคร่าวๆ ของภาคพื้นทวีปต่างๆ บนโลกได้อย่างรวดเร็วด้วยการมองเพียงครู่เดียว ส่วนการบอกเวลาไทม์โซนที่สองอย่างชัดเจนเป็นรายชั่วโมงนั้นจะเป็นการชี้บอกด้วยเข็มภายในหน้าปัดย่อย 12 ชั่วโมงทำจากไวท์โกลด์ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกาโดยสามารถปรับตั้งเข็มสามเหลี่ยมสีแดงให้บอกเวลาที่สองที่ต้องการได้อย่างสะดวกด้วยปุ่มกดไวท์โกลด์ที่ถูกสลักนูนเป็นอักษร GMT ด้วยมือ ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกาบนด้านข้างของตัวเรือน ที่ตำแหน่ง 1 นาฬิกาของตัวเรือน จะเป็นที่อยู่ของหน้าปัดทองคำ 18k ขนาดใหญ่ทำทรีตเม้นท์เป็นสีแอนทราไซต์แปะด้วยโลโก้ไวท์โกลด์ซึ่งจะบอกเวลาหลักเป็นชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มทองคำขัดเงาแต้มสารเรืองแสง แผ่นวงชั่วโมงทำจากไวท์โกลด์ขัดเซอร์คูลาเกรน โดยมีหน้าปัดวินาทีเล็กทำจากไวท์โกลด์แสดงด้วยเข็มบลูด์สตีลอยู่ที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาของตัวเรือน ถัดมาในตำแหน่ง 3 นาฬิกาจะเป็นมาตรไวท์โกลด์แสดงกำลังสำรองด้วยเข็มบลูด์สตีล และหากอยากทราบเวลาของเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของละไทม์โซนตามธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของนาฬิกาเวิลด์ไทม์ ก็สามารถพลิกดูได้บนด้านหลังของตัวเรือนเพราะเมื่อมองผ่านกระจกแซฟไฟร์คริสตัลเข้าไปแล้วจะพบกับเวิลด์ไทม์ดิสก์ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเมืองสำคัญ 24 เมืองแทน 24 ไทม์โซน ซึ่งจะถูกขนาบด้วยสเกลชั่วโมงแบบ 24 ชั่วโมงอยู่บนวงแหวน 2 วง วงด้านนอกจะบอกเวลาปัจจุบันของแต่ละเมือง ส่วนวงด้านในจะบอกเวลาที่ถูกทดเพิ่มสำหรับดูเวลาในช่วงซัมเมอร์ไทม์ของปีซึ่งการตั้งการหมุนของลูกโลกให้ถูกต้องตามเวลาจริงก็ต้องตั้งจากสเกลชั่วโมงและชื่อเมืองด้านหลังนี่ล่ะครับ เพราะแผนที่บนลูกโลกด้านหน้ากับชื่อเมืองด้านหลังจะสัมพันธ์กันตามความเป็นจริงและจะทำการหมุนไปพร้อมกันนั่นเอง ส่วนแผ่นกลมสลักลายดวงอาทิตย์สีทองที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกานั้นใช้สื่อความหมายถึงโซนฝั่งเวลากลางวันของดิสก์ 24 ชั่วโมงนั่นเอง ส่วนแผ่นทองคำซึ่งติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 7 นาฬิกานั้นจะถูกเอาไว้ด้วยหมายเลขประจำเรือน และมีการสลักนูนชื่อแบรนด์เอาไว้ที่ด้านบนและชื่อรุ่นไว้ที่ด้านล่างของขอบฝาหลัง

 

เครื่องไขลาน Calibre GF05 ที่พัฒนาเพื่อใช้ในนาฬิการุ่นนี้โดยเฉพาะ ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนทั้งหมด 443 ชิ้น ในจำนวนนี้มี 87 ชิ้นที่ใช้สำหรับกรงตูร์บิยองแบบหมุนครบรอบใน 24 วินาที วางมุมเอียง 25 องศา ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของแบรนด์และมีน้ำหนักเพียง 0.36 กรัม ติดตั้งอยู่บนตัวเรือนไวท์โกลด์ขนาด 43.5 มิลลิเมตร หนา 16.14 มิลลิเมตร ณ ตำแหน่ง 5 นาฬิกา ด้วยลักษณะเฉพาะที่มีขนาดเล็กจึงทำให้สามารถบรรจุฟังก์ชั่นอื่นเพิ่มเติมลงไปบนเครื่องได้โดยสามารถจัดวางสัดส่วนของแต่ละฟังก์ชั่นบนรูปทรงตัวเรือนแบบอสมมาตรได้อย่างลงตัวสมดุลย์ ลายเส้นข้างตัวเรือนที่เห็นนั้นถูกขัดแต่งอย่างประณีตด้วยมือเช่นเดียวกับชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่อง เม็ดมะยมไวท์โกลด์สลักโลโก้ลงแลกเกอร์สีดำ เพลทและบริดจ์เป็นนิกเกิ้ลซิลเวอร์ทำผิวด้าน บาลานซ์ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรอง 72 ชั่วโมงจากการใช้บาร์เรลแบบแกนร่วม 2 กระปุก มีจิวเวลทั้งหมด 50 จิวเวล กระจกหน้าปัดทรงโดม หน้าต่างข้างตัวเรือน และฝาหลังทำจากแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำเย็บด้วยมือสุดประณีต

  

 

Tourbillon 24 Secondes Contemporain

 

Tourbillon 24 Secondes Contemporain รุ่นนี้เป็นงานนาฬิกาตูร์บิยองผลิตจำนวนจำกัดเวอร์ชั่นใหม่ปี 2012 ที่จะทำขึ้นเพียง 33 เรือน ในตัวเรือนแพลตินั่ม 950 ทรงกลมขนาด 43.5 มิลลิเมตร หนา 15.2 มิลลิเมตร ที่มีการนำเมนเพลทวัสดุไทเทเนียมซึ่งถูกฟินิชด้วยสีรอยัลบลูมาใช้เพิ่มความงดงามโดดเด่นเป็นครั้งแรกของแบรนด์ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างมุมมอง 3 มิติให้กับงานตูร์บิยองที่ลอยอยู่ทางด้านหน้ารวมถึงรายละเอียดการดิสเพลย์ชิ้นงานต่างๆ ให้เด่นชัดมีมิติยิ่งขึ้นด้วยการทำให้พื้นหลังซึ่งก็คือเมนเพลทไทเทเนียมมีสีฟ้าน้ำทะเลที่เข้มข้นและสวยงาม สีที่ได้นี้เกิดจากกรรมวิธีอโนไดซ์ออกไซด์แบบพิเศษให้มีความวับวาวและเปล่งประกายเฉดออกมาได้อย่างหลากหลายระดับตามแสงไฟที่ตกกระทบขัดลายด้วยมือสร้างความงดงามที่ไม่เหมือนใคร แม้แต่หลักชั่วโมงเลข 12 ก็ยังถูกพิถีพิถันออกแบบให้ลอยเด่นออกมาอย่างมีชั้นเชิงสถาปัตย์ ยิ่งตูร์บิยองบริดจ์ที่ใช้ในรุ่นนี้ถูกทำขึ้นจากแซฟไฟร์สังเคราะห์ด้วยแล้วจึงทำให้เหมือนกับตูร์บิยองลอยอยู่กลางอากาศเข้าไปใหญ่ ส่วนบริดจ์อื่นๆ ทำจากนิกเกิ้ลซิลเวอร์ที่ฟินิชด้วยการทำนิกเกิ้ล-พัลลาเดียม และทำการขัดแต่งลบเหลี่ยมด้วยมือ 

Unknown 3Unknown 4

 

นาฬิการุ่นนี้ใช้เครื่องไขลานนวัตกรรมลำดับที่ 3 ของแบรนด์ Calibre GF01c ประกอบด้วยชิ้นส่วน 267 ชิ้น ซึ่งมีชิ้นส่วนของกรงตูร์บิยองรวมอยู่ด้วย 88 ชิ้นหนัก 0.39 กรัม ตูร์บิยองหมุนด้วยความเร็วสูงในระดับ 24 วินาทีต่อรอบวางระดับกรงเอียงทำมุม 25 องศา ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดผลกระทบของแรงโน้มถ่วงเพื่อให้ตูร์บิยองทำงานได้อย่างเสถียรที่สุด บาร์เรลเป็นแบบแกนร่วม 2 กระปุกสร้างกำลังสำรองได้ 72 ชั่วโมง บาลานซ์ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง มี 40 จิวเวล บอกชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มทองคำขัดเงาแต้มสารเรืองแสงวาดผ่านหลักชั่วโมงที่อยู่บนวงแหวนหน้าปัดแซฟไฟร์สังเคราะห์ซึ่งอยู่ติดกับขอบตัวเรือน ส่วนหน้าปัดวินาทีและมาตรกำลังสำรองทำจากทองคำ ชี้บอกด้วยเข็มรูปสามเหลี่ยมสีแดงและเข็มทองขัดเงาตามลำดับ พร้อมสเกล 24 วินาทีแสดงการหมุนของตูร์บิยองที่ชี้บอกด้วยเข็มอลูมิเนียมทำอโนไดซ์ดำหางยาวหัวศรแดง กระจกหน้าปัดทรงโดมและฝาหลังทำจากแซฟไฟร์คริสตัล ขอบฝาหลังด้านบนสลักนูนด้วยมือเป็นชื่อแบรนด์ ส่วนด้านล่างจะสลักข้อความบอกองศาความเอียงของตูร์บิยอง มีเพลทไทเทเนียมสลักหมายเลขประจำตัวเรือนอยู่ถัดขึ้นไป ด้านข้างของตัวเรือนทั้ง 2 ด้านมีเพลทแพลตินัมสลักข้อความอย่างละเอียดด้วยมือยึดติดด้วยสกรูว์อยู่ด้านละแผ่น เม็ดมะยมทำจากแพลตินัมแกะโลโก้ลงแลกเกอร์สีดำ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำเงินตัดเย็บด้วยมือ

 

  

Quadruple Tourbillon Secret

 

เวอร์ชั่นล่าสุดของ Quadruple Tourbillon เผยโฉมออกมาในงาน SIHH 2012 ด้วยชื่อต่อท้ายรุ่นว่า Secret ซึ่งทำออกมาด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นโซ่ข้อกลางคล้องระหว่าง Robert Greubel และ Stephen Forsey กับเหล่านักสะสม ด้วยความละเอียดประณีตของงานในระดับสูงสุดของจักรกลสุดพิเศษที่คราวนี้จะเปิดให้ชมอย่างเต็มตาผ่านทางด้านหลังเท่านั้น ไม่โจ่งแจ้งเปิดโล่งอวดสายตาชัดเจนทางด้านหน้าปัดเหมือนรุ่นต้นกำเนิด โดยให้หน้าปัดที่จัดวางดิสเพลย์ต่างๆ ให้เหลื่อมระดับกันทั้งในแนวดิ่งและแนวราบทำหน้าที่ถ่ายทอดค่าต่างๆ ซึ่งเกิดจากการทำงานของกลไกอันลึกล้ำออกมาสู่สายตาในรูปแบบที่หมดจดกว่าที่เคย เวอร์ชั่นนี้จะถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดในตัวเรือนแบบอสมมาตรขนาด 43.5 มิลลิเมตร หนา 16.11 มิลลิเมตร ทำจากวัสดุแพลตินัม 950 จำนวน 8 เรือน และวัสดุเร้ดโกลด์ 5N อีก 8 เรือนเท่านั้น 

Unknown 5

 

เครื่องที่ขับเคลื่อนนาฬิการุ่นนี้เป็นเครื่องไขลานนวัตกรรมลำดับที่ 2 ที่มีชื่อเรียกว่า Calibre GF03j ให้ความเที่ยงตรงในระดับสูงสุดด้วยตูร์บิยองวางมุมเอียง 30 องศาจำนวนทั้งหมด 4 ตัว จัดวางเป็นคู่แยกกันอิสระโดยเชื่อมต่อการทำงานกันด้วยสเฟริคัลดิฟเฟอเรนเชียลซึ่งจะทำหน้าที่เฉลี่ยเอาความเร็วที่เกิดขึ้นระหว่างการหมุนของตูร์บิยอง 2 คู่มาปรับให้การเดินของนาฬิกามีความเสถียรและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยตูร์บิยองคู่ที่อยู่ด้านในจะหมุนครบรอบใน 1 นาที ส่วนตูร์บิยองคู่ที่อยู่ด้านนอกซึ่งมองเห็นได้จากทางด้านหลังและช่องหน้าต่างข้างตัวเรือนนั้นจะหมุนครบรอบใน 4 นาที Calibre GF03j นี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 519 ชิ้น ซึ่งรวมถึง 261 ชิ้น น้ำหนัก 2.35 กรัมที่เป็นส่วนประกอบของกรงตูร์บิยองทั้ง 4 ด้วยแล้ว มี 63 จิวเวล ให้กำลังสำรอง 50 ชั่วโมงจากบาร์เรลสองกระปุก เดินด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง เพลทและบริดจ์ทำจากนิกเกิ้ลซิลเวอร์ที่ฟินิชด้วยการทำนิกเกิ้ล-พัลลาเดียมและทำการขัดแต่งลบเหลี่ยมด้วยมือ ตูร์บิยองบริดจ์ 4 ชิ้นนั้นทำจากวัสดุสตีล 2 ชิ้น และนิกเกิ้ลซิลเวอร์ 2 ชิ้น ประดับด้านหลังด้วยเพลททองคำสลักหมายเลขประจำตัวเรือน บอกชั่วโมงกับนาทีบนหน้าปัดหลัก บอกวินาทีบนหน้าปัดย่อยที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาซึ่งแสดงการหมุนของตูร์บิยองด้านใน โดยมีมาตรสเกลแสดงกำลังสำรองติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกันเหนือวงสเกลวินาทีด้วย บนหน้าปัดที่ตำแหน่ง 8 นาฬิกาจะมีสเกล 240 วินาที และที่ตำแหน่ง 5 นาฬิกาจะมีสเกล 4 นาที ซึ่งมีเข็มชี้บอกของใครของมันเพื่อแสดงการหมุนของตูร์บิยองคู่นอกซึ่งทั้งคู่จะหมุนครบรอบในเวลา 4 นาที พร้อมสลักหมายเลขประจำเรือนด้วยมือบนเพลททองคำติดตั้งไว้บนขอบด้านล่างของวงสเกล 4 นาที ขัดแต่งลายเส้นบนตัวเรือนด้านข้างด้วยมือ ขอบฝาหลังสลักนูนชื่อแบรนด์และชื่อรุ่นด้วยมือเช่นกัน กระจกหน้าปัดทรงโดม ช่องหน้าต่างด้านข้าง และฝาหลังทำจากแซฟไฟร์คริสตัล สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีดำตัดเย็บด้วยมือ ตัวเรือนแพลตินัมที่เห็นในภาพจะใช้หน้าปัดทองคำทำสีเงิน เข็มชั่วโมง นาที และวินาทีเป็นแบล็กสตีล ส่วนเข็มกำลังสำรองและเข็มกวาด 4 นาทีทั้งสองทำจากทองคำขัดเงา โลโก้ หลักชั่วโมง และแผ่นดิสเพลย์ต่างๆ บนหน้าปัดทำจากทองคำ เม็ดมะยมแพลตินัมสลักโลโก้ลงแลกเกอร์ดำ

  

 

 

PARMIGIANI FLEURIER

 

ต่อกันด้วย PARMIGIANI FLEURIER แบรนด์นาฬิกาที่มีความเป็นตัวตนสูงอีกแบรนด์หนึ่ง ในงาน SIHH 2012 นี้ ทางแบรนด์ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือรุ่นปี 2012 ออกมา 3 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ Kalparisma ในเวอร์ชั่นตัวเรือนสตีลสำหรับคุณผู้หญิง Tonda 1950 รุ่นพิเศษสเปเชี่ยลเอดิชั่น และ Tonda Retrograde ที่มากับฟังก์ชั่นแอนนวลคาเลนดาร์ แต่ละรุ่นจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ขอเชิญรับชมได้เลยครับ

 

Kalparisma Steel

 

ปี 2012 นี้ นาฬิการุ่น Kalparisma ก็ได้ฤกษ์ทำออกขายในเวอร์ชั่นตัวเรือนสตีลสำหรับคุณผู้หญิงแล้วเพื่อขยายตลาดในกลุ่มสุภาพสตรีของตนให้กว้างยิ่งขึ้น หลังจากที่มีแต่ตัวเรือนในวัสดุทองคำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตัวเรือนทรงตอนโนอันคุ้นตาของรุ่นนี้ในเวอร์ชั่นสตีลมาในขนาด 37.5 x 31.2 มิลลิเมตร หนา 8.4 มิลลิเมตร ขัดเงาวาววับ และมีเวอร์ชั่นประดับเพชรจำนวน 46 เม็ด น้ำหนักรวม 0.88 กะรัต บนตัวเรือนให้เลือกด้วย กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน สวมใส่คู่กับสายสตีลขัดเงาหรือสายหนังจระเข้ บรรจุเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre PF331 กำลังสำรอง 55 ชั่วโมงเอาไว้ภายในโดยสามารถมองเห็นงานขัดแต่งอย่างงามได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล พร้อมสลักเลขลำดับประจำตัวเรือนกำกับไว้บนขอบฝาหลังด้วย

 

20120304 34666404

 

หน้าปัดแกะกิโยเช่แบบซันเรย์ของ Kalparisma Steel มีให้เลือก 2 สี คือ สีดำซึ่งใช้หลักชั่วโมงและเข็มเคลือบโรเดียม หรือสีงาช้างซึ่งใช้หลักชั่วโมงและเข็มเคลือบทอง เข็มชั่วโมงกับนาทีถูกแต้มด้วยสารเรืองแสง และมาพร้อมกับเข็มวินาทีเล็กชี้บอกบนหน้าปัดย่อย ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เหนือหน้าต่างแสดงวันที่ขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ถัดลงมา

 

  

Tonda 1950 Special Edition

 

เอดิชั่นพิเศษผลิตจำนวนจำกัด 60 เรือนของ Tonda 1950 รุ่นนี้มากับตัวเรือนไทเทเนียมเกรด 5 ขัดเงา ขนาด 39 มิลลิเมตร หนา 7.8 มิลลิเมตร และงานหน้าปัดที่มาในรูปแบบของตระแกรงกระจายออกเป็นวงกลมที่ทำขึ้นด้วยการใช้เทคนิค LIGA ซึ่งซ้อนทับกับตะแกรงแนวขวางที่อยู่ชั้นในเพื่อเผยให้เห็นเกียร์เทรนที่อยู่ภายในด้วยสไตล์ที่ไม่โจ่งแจ้งแต่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้ที่ผลิตโดย Hermes แสดงผลชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มทรงสามเหลี่ยมแต้มสารเรืองแสง บอกวินาทีบนหน้าปัดย่อย ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาด้วยเข็ม กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลสลักหมายเลขประจำเรือนบนขอบฝาหลัง

 

20120304 72900379

 

ภายในบรรจุด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์สุดบาง Calibre PF 701 ซึ่งความหนาเพียง 2.6 มิลลิเมตรของมันนี้ถือเป็นเครื่องที่บางที่สุดเครื่องหนึ่งในวงการ ณ ปัจจุบัน 29 จิวเวล ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง มีกำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ใช้ไมโครโรเตอร์ทำจากแพลตินัม 950 จัดวางตำแหน่งแบบออฟเซ็นเตอร์ เมนเพลททำจากนิกเกิ้ลซิลเวอร์พ่นทรายขัดลายเซอร์คูล่าเกรนและนำไปเคลือบโรเดียม บริดจ์พ่นทรายขัดแต่งลายโค้ตเดอเชอแนฟและเคลือบโรเดียม

  

 

Tonda Retrograde Annual Calendar

 

20120304 197925020120304 47060724

 

ตัวเรือนของนาฬิการุ่นนี้มีขนาด 40 มิลลิเมตร หนา 11.2 มิลลิเมตร ชี้บอกวันที่บนสเกล 1-31 ที่ขอบหน้าปัดด้านบนด้วยเข็มเรโทรกราด ส่วนวันกับเดือนจะชี้บอกด้วยเข็มบนวงหน้าปัดย่อยที่ตำแหน่ง 9 กับ 3 นาฬิกาตามลำดับ มีฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสด้วยดวงจันทร์สีโรสโกลด์ 2 ดวง ดวงหนึ่งสำหรับซีกโลกเหนือและอีกดวงหนึ่งสำหรับซีกโลกใต้ ซึ่งต้องการการปรับตั้งเพียงครั้งเดียวในทุก 120 ปี เข็มชั่วโมงกับนาทีทรงสามเหลี่ยมแต้มสารเรืองแสง เข็มวินาทีอยู่ตรงกลาง กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน ฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล มีหมายเลขประจำเรือนสลักบนขอบฝาหลัง มีให้เลือกทั้งตัวเรือนไวท์โกลด์ 150 PD ขัดเงา หน้าปัดสีเทาดำขัดลายบาร์เล่ย์เกรนตรงส่วนกลางและมีวงแหวนรอบนอกเป็นโอปอลีนสีดำ และตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ขัดเงา หน้าปัดสีเหลืองเงินขัดละเอียดตรงส่วนกลางและมีวงแหวนรอบนอกเป็นโอปอลีนสีเงิน เข็มชั่วโมงกับนาทีทรงสามเหลี่ยมแต้มสารเรืองแสง สวมใส่คู่กับสายหนังที่ผลิตโดย Hermes

 

By: Viracharn T.