EPOS "TRADITIONAL SWISS WATCH AT AFFORDABLE PRICE"

 

หากลองตั้งโจทย์ว่านาฬิกาที่คุณต้องการจะต้องมีคุณสมบัติพึงปรารถนาดังต่อไปนี้ครบทุกข้อ ได้แก่ หนึ่ง.เป็นนาฬิกาสวิสแท้ๆ สอง.เป็นนาฬิกาเครื่องจักรกล สาม.มีฟังก์ชั่นน่าสนใจมากมายให้เลือก สี่.หน้าตาต้องดีทั้งภายนอกและภายใน ห้า.มีคุณภาพการผลิตที่ดี และหก.ต้องมีราคาสมเหตุสมผล เอื้อมถึงได้โดยง่าย คุณว่าจะมีนาฬิกาที่มีคุณสมบัติครบตามโจทย์นี้อยู่บนโลกใบนี้ไหม? หลายคนที่รู้จักกับนาฬิกาพอสมควร คงจะตอบได้ว่ามีนาฬิกาแบรนด์ที่พร้อมด้วยคุณสมบัติเหล่านี้อยู่เหมือนกัน แต่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปนัก เพราะแบรนด์ที่ตั้งใจผลิตนาฬิกาให้มีคุณสมบัติอย่างที่กล่าวไปข้างต้นทุกข้อเค้าคงไม่มีงบประมาณมากมายในการลงโฆษณาโปรโมทนาฬิกาของเขาตามสื่อต่างๆ มากมายนัก และหลายคนก็คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า EPOS ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มแบรนด์ที่ว่านั้นครับ

 

ประวัติความเป็นมาของ EPOS จริงๆ แล้วก็ไม่ได้น้อยหน้าใคร สามารถนำมาอวดกับเขาได้เลยล่ะ หากจะย้อนไปถึงแหล่งที่มาของนาฬิกา EPOS ในทุกวันนี้ก็คงจะต้องย้อนไปถึงชายที่ชื่อ James Aubert ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาผู้เชี่ยวชาญในด้านเครื่องโครโนกราฟและมินิทรีพีทเตอร์เป็นพิเศษ และเคยทำงานให้กับ Valjoux และ Landeron มาก่อน เขาได้ก่อตั้งบริษัท James Aubert SA ขึ้นเมื่อปี 1925 ในแถบ วัลเล่ย์ เดอ ชูซ์ ซึ่งเป็นถิ่นฐานแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อที่จะผลิตนาฬิกาของตนเองขึ้น ความรู้ของเขาถูกถ่ายทอดต่อมายัง Jean Aubert หลานของเขา และ Jean Fillon ลูกเขยของเขา โดย Jean Fillon คนนี้นี่ล่ะที่เป็นหัวหน้าวิศวกรของ EPOS ในปัจจุบัน โดยในเวิร์คช็อป James Aubert SA. ของเขายังคงสืบสานความตั้งใจของ James ด้วยการพัฒนากลไกต่างๆ โดยเฉพาะแบบที่มีความซับซ้อนกว่ากลไกปกติภายในเวิร์คช็อปของตนเอง อาทิ กลไกจั๊มปิ้งอาวร์ กลไกบอกกำลังสำรอง กลไกที่มีบิ๊กเดท กลไกบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ และกลไกบอกเวลาแบบเรกูเลเตอร์ที่มีมูนเฟส เป็นต้น โดยพัฒนาจากเครื่องเบสของ Unitas หรือเครื่องเก่าของ Peseux เพื่อนำมาประจำการในนาฬิการุ่นต่างๆ ของ EPOS อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ 

 

ในยุคต้นทศวรรษที่ 80 อันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาแบบดั้งเดิมของสวิสถูกสั่นคลอนด้วยเทคโนโลยีควอตซ์อย่างหนัก แบรนด์นาฬิกาจักรกลของสวิสเก่าแก่หลายแบรนด์ต้องปิดตัวลง แต่ก็ยังมีบางคนที่เชื่อมั่นในศาสตร์แห่งนาฬิกาจักรกลอยู่และต้องการที่จะสืบมรดกทางวัฒนธรรมนี้ต่อไป ชายที่ชื่อ Peter Hofer ก็เป็นอีกคนที่เชื่อเช่นนั้น Peter เป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในวงการผู้ผลิตนาฬิกาสวิส เขาและ Erna ภรรยาคู่ชีวิตได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทผลิตนาฬิกาของตนขึ้นในปี 1983 โดยใช้ชื่อว่า Montres EPOS SA. ซึ่งเกิดขึ้นจากความหลงใหลในนาฬิกาจักรกล ความรู้ในอุตสาหกรรมนี้ที่เขาสั่งสมมา และความใกล้ชิดสนิทสนมโดยส่วนตัวกับเวิร์คช็อปพัฒนาและผลิตกลไกในเขตภูเขาจูรา และวัลเลย์ เดอ ชูซ์ (รวมถึงกับ Jean Fillon ด้วย) ของเขานั่นเอง ตลอดเวลาที่ Peter เป็นผู้นำของ EPOS เขาได้รักษาความตั้งใจแรกเริ่มของเขาซึ่งก็คือการให้ EPOS เป็นแบรนด์นาฬิกาจักรกลอย่างแท้จริงเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น พร้อมๆ กับทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Jean เพื่อพัฒนาคอมพลิเคชั่นใหม่ๆ มาใช้กับนาฬิกา EPOS อย่างต่อเนื่อง และในปี 2002 Ursula Forster ผู้มาจากครอบครัวนักประดิษฐ์นาฬิกา กับ Tamdi ผู้มีประสบการณ์สูงในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส สามีของเธอ ก็ได้เข้ามาร่วมทุนกับ EPOS ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนากิจการของ EPOS ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในอนาคต

 

ทุกวันนี้ EPOS ยังคงดำรงตนเป็นหนึ่งในผู้พิทักษ์คุณค่าในประเพณีดั้งเดิมและรักษามาตรฐานระดับสูงของการประดิษฐ์นาฬิกาแบบสวิสแท้ๆ เอาไว้อย่างมั่นคง นาฬิกา EPOS ทุกเรือนจะถูกพัฒนาขึ้นในเวิร์คช็อปแถบภูเขาจูราและวัลเล่ย์ เดอ ชูซ์ และนำมาประกอบที่ Grenchen ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเขตวัฒนธรรมการผลิตนาฬิกาอันเก่าแก่ของสวิสทั้งสิ้น ส่วนเครื่องจักรกลที่ใช้ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนาฬิกา EPOS นั้นจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน แบบแรกคือ การนำเครื่องเบสของผู้ผลิตเครื่องชั้นนำของสวิสมาเพิ่มฟังก์ชั่นต่างๆ รวมทั้งนำมาขัดแต่ง โดยช่างนาฬิกาของ EPOS เองอีกครั้งก่อนจะนำไปประจำการในนาฬิกา EPOS ส่วนแบบที่สอง จะเป็นเครื่องที่สร้างสรรค์โดย James Aubert SA. ซึ่งเป็นเวิร์คช็อปที่ Jean Fillon เป็นผู้ดูแลอยู่ โดยจะนำเครื่องต่างๆ จาก Unitas หรือเครื่องวินเทจต่างๆ ในอดีตของ Peseux มาพัฒนาและเพิ่มเติมฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ซับซ้อนซึ่งพัฒนาขึ้นเองภายในเวิร์คช็อปลงไป อาทิ มาตรกำลังสำรอง บิ๊กเดท และเรกูเลเตอร์พร้อมมูนเฟส เป็นต้น อีกทั้งยังมีการขัดแต่งอย่างประณีตซึ่งบางครั้งก็มีการแกะลายด้วยมือด้วย และด้วยความที่ใช้เครื่องจักรกลล้วนอันน่าภาคภูมิของแบรนด์นี้เองที่ทำให้นาฬิกาแทบทุกรุ่นของ EPOS จะมากับฝาหลังคริสตัลใสเพื่ออวดโฉมความงดงามของเครื่องและการขัดแต่งด้วยฝีมือของช่างนาฬิกาของตน แต่ถึงแม้จะใส่ใจรายละเอียดและคุณสมบัติกันขนาดนี้ EPOS ก็ยังยึดการตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ไม่ฉีกกระเป๋าผู้ซื้อจนเกินงาม จนเป็นที่เลื่องลือกันในหมู่ผู้นิยมชมชอบนาฬิกาสวิสแบบดั้งเดิม

 

 

Unknown  Unknown 1

 

(ซ้าย) Oeuvre d'art Ref.3400 GMT Limited Edition

(ขวา) Sportive Ref.3398 Big Pilot's Watch Chronograph 

 

 

มาดูนาฬิการุ่นเด่นๆ ของ EPOS กันนิดนึงนะครับ ที่เลือกมาให้ชมจะเป็นรุ่นใหม่ๆ ที่ได้ผลิตออกจำหน่ายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและยังมีของใหม่จำหน่ายอยู่ในทุกวันนี้ อาทิ Ref.3400 GMT Limited Edition จากคอลเลคชั่น Oeuvre d’art ผลิตจำนวนจำกัด 999 เรือน ที่มาในตัวเรือนสตีลทรงรีขนาด 40x47 มิลลิเมตร ฝาหลังใส หน้าปัดลายกิโยเช่สีดำ ที่บรรจุกลไกอัตโนมัติ ETA 2671 เอาไว้ 2 ตัวด้วยกัน เพื่อให้บอกเวลาได้ 2 ไทม์โซนแยกกันอย่างอิสระ ตัวแรกที่บอกเวลาหลักพร้อมวันที่บนวงหน้าปัดเปลือกหอยมุกสีขาวหลักชั่วโมงโรมันด้านซ้ายดูไม่มีอะไรพิเศษ แต่กลไกตัวที่ 2 ที่บอกเวลาที่ 2 พร้อมวันที่ของตนเองบนหน้าปัดทางขวานี่สิที่ดูน่าสนใจ เพราะ EPOS ได้โมดิฟายด์ให้สามารถบอกชั่วโมงและกลางวัน/กลางคืนได้โดยใช้เข็มที่มีปลายข้างหนึ่งแปะพระอาทิตย์อีกข้างหนึ่งแปะพระจันทร์หมุนทวนเข็มนาฬิกาเพียงเข็มเดียว ต่อด้วยนาฬิกานักบิน Big Pilot’s Watch Chronograph Ref.3398 จากคอลเลคชั่น Sportive ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มิลลิเมตร ฝาหลังใส กันน้ำได้ 100 เมตร ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ด้วยดีไซน์ที่นำมาจากนาฬิกานักบินในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ Valjoux 7750 อีกเรือนเป็นมินิทรีพีทเตอร์จากคอลเลคชั่น Oeuvre d'art Ref.3373 Five Minute Repeater Limited Edition กับจำนวนจำกัด 200 เรือน ซึ่ง EPOS สร้างโมดูลสำหรับมินิทรีพีทเตอร์ที่เรียกว่า DD88 ขึ้นมาติดตั้งบนพื้นฐานของเครื่องอัตโนมัติ ETA 2892-A2 พร้อมโชว์ฝีมือการขัดแต่งเครื่องและโมดูลให้เห็นกันชัดๆ ทางฝั่งหน้าปัดด้วย มาในตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มิลลิเมตร ฝาหลังใส

 

 

Unknown 2

 

Oeuvre d'art Ref.3373 Five Minute Repeater Limited Edition

 

 

เห็นนาฬิกาสวยๆ ที่มากับฟังก์ชั่นใช้งานหลายรูปแบบของ EPOS แล้ว อยากบอกว่าแต่ละรุ่นราคาเบากว่าหน้าตาอยู่มากทีเดียว หากกำลังมองหานาฬิกาที่มีคุณสมบัติครบ 6 ข้อตามย่อหน้าแรกของบทความนี้ EPOS เป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่อยู่ในลิสต์ของคุณแน่นอนครับ อยู่ที่ว่ามีรุ่นที่หน้าตาถูกใจคุณหรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

 

Unknown 3

 

Duograph Complete Calendar Ref.3341 จากคอลเลคชั่น Sportive ตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มิลลิเมตร ฝาหลังใส กันน้ำได้ 50 เมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล หน้าปัดสีดำ ที่น่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการหาเรือนเวลาฟังก์ชั่นครบครันมาเป็นเพื่อนคู่กายเป็นอย่างยิ่ง นาฬิกาเรือนนี้มาพร้อมกับกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ Valjoux 7751 จับเวลาได้ 12 ชั่วโมง ชี้บอกวันที่ด้วยเข็มกลาง บอกวันและเดือนด้วยช่องหน้าต่างคู่ในวงนาทีจับเวลา แสดงมูนเฟสในวงชั่วโมงจับเวลา พร้อมสเกลทาคีมิเตอร์บนขอบหน้าปัด สวมใส่คู่กับสายหนังแท้สีดำ

 

 

Unknown 4

 

Passion Ref.3368 "รักเมืองไทย" นาฬิกาลิมิเต็ดเอดิชั่นสำหรับประเทศไทยที่ EPOS ทำขึ้นเป็นพิเศษ 300 เรือน จากพื้นฐานของ Ref.3368 ซึ่งถูกอยู่ในคอลเลคชั่น Passion ตัวเรือนสตีลขนาด 42 มิลลิเมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัล ฝาหลังใส กันน้ำได้ 50 เมตร ใช้กลไกไขลาน Unitas บอกวันที่ด้วยเข็มกลาง บอกวันและเดือนด้วยช่องใต้ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มีเข็มวินาทีเล็กที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และแสดงมูนเฟสภายในหน้าต่างที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา หน้าปัดสีขาวเปิดช่องให้เห็นเครื่องที่ขัดแต่งลายโค๊ตเดอเชอแนฟและสกรูว์บลูด์สตีลโดยมีรูปแผนที่ประเทศไทยพร้อมคำว่า Thailand อยู่บนหน้าปัดทางด้านขวามือ สวมใส่กับสายหนังสีดำ

 

 

Unknown 5

 

 Jumping Hour นาฬิกาตัวเรือนสตีลทรงเหลี่ยมขอบมนสุดคลาสสิกรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ไม่ได้ผลิตจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน นาฬิการุ่นนี้ใช้เครื่องไขลานที่แสดงผลชั่วโมงแบบจั๊มปิ้งอาวร์ในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา บอกนาทีด้วยเข็มในหน้าปัดขนาดใหญ่กว่าด้านบน และมีหน้าปัดบอกวินาทีขนาดเล็กกว่าอยู่ด้านล่าง แต่ก็เป็นหน้าปัดวินาทีที่ใหญ่จนเห็นได้ชัดเจนจนได้รับการเรียกขานว่าเป็น Doctor Watch เพราะสามารถอ่านค่าวินาทีได้ชัดจนใช้แพทย์ใช้ในการจับชีพจรได้เลย

 

 

By: Viracharn T.