วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ตำนานนาฬิกา Breguet No. 160 “Marie-Antoinette”

By: Rittidej Mohprasit

 

เรื่องราวของนาฬิกาบางรุ่น ก็เป็นดั่งเทพนิยายวอล์ทดิสนี่ ที่มีจุดเริ่มอย่างยิ่งใหญ่ แต่เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นจนกลายเป็นดราม่าช่วงกลางเรื่อง แล้วจึงคลี่คลายไปสู่ตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งที่น่าประทับใจ เช่นเดียวกันกับเรื่องของนาฬิกา Breguet No. 160 Marie-Antoinette

 

a l breguet 01

Abraham-Louis Breguet

 

เรื่องมีอยู่ว่าในปี 1775 (ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) Abraham-Louis Breguet ขณะนั้นอายุ 36 ปี มีร้านนาฬิกาอยู่ใจกลางกรุงปารีส เหล่าลูกค้าก็เป็นพวกขุนนางไฮโซรวมทั้งราชวงศ์ทั้งหลาย จนมีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วแล้ว วันหนึ่งแกได้รับคำสั่งผลิตนาฬิกาจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ว่าต้องการให้สร้างสุดยอดนาฬิกาพกเรือนพิเศษเพื่อถวายแก่พระราชินี Marie-Antoinette ผู้เลอโฉม โดยมีเงื่อนไขว่านาฬิกาเรือนนี้จะต้องมีกลไกคอมพลิเคชั่นทุกฟังชั่นทั้งหมดที่สามารถจะมีได้ในขณะนั้น และต้องใช้ทองคำในการผลิตทุกชิ้นส่วนหรือให้ได้มากที่สุดแม้กระทั่งส่วนของกลไกชิ้นเล็กๆ และที่สำคัญ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้นทั้งด้านงบประมาณและระยะเวลาในการผลิต ดังนั้นนาฬิกาเรือนนี้จึงมีรหัสตามเอกสารหอจดหมายเหตุของ Breguet ว่า “No. 160”

02

ภาพถ่ายหอจดหมายเหตุ No. 160

 

บุคคลลึกลับผู้สั่งผลิตนาฬิกา No. 160 นี้คือใครยังไม่มีใครรู้และยังมีหลายทฤษฎีอีกด้วย บางคนเห็นว่าจริงๆ พระราชินีเองเป็นคนสั่งผ่านทหารรักษาพระองค์ (เพราะพระนาง Marie-Antoinette เองก็เป็นลูกค้าของ Breguet) แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นของขวัญจากชู้รักอย่างท่านเค้าท์ Hans Axel von Fersen แห่งราชอาณาจักรสวีเดน แต่ไม่ว่าผู้สั่งซื้อจะเป็นใคร เพียง 5 ปีหลังจากสั่ง (งานยังไปไม่ถึงไหนเลย) พระนาง Marie-Antoinette ก็ต้องมีอันเป็นไปด้วยเครื่องประหารกิโยตินในการปฏิวัติฝรั่งเศสอันแสนโดงดัง แต่ถึงกระนั้น Breguet ก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาและสร้างนาฬิกา No. 160 ต่อไป

 

03. von Fersen Marie Antoinette

Count Hans Axel von Fersen และ Queen Marie-Antoinette

 

จากวันที่เริ่มสั่งผลิต พวกเราต้องนั่งไทม์แมชชีนล่วงหน้ามาอีกถึง 44 ปีคือในปี 1827 ที่นาฬิกา No. 160 สร้างเสร็จสมบูรณ์ ขณะนั้นพระนาง Marie-Antoinette ก็สวรรคตไปแล้วถึง 34 ปี ท่านเค้าท์ von Fersen ชู้รักก็เสียชีวิตไปแล้วถึง 17 ปี แม้กระทั่ง Abraham-Louis Breguet เองก็เสียชีวิตไปแล้วกว่า 4 ปี ผลงานเพิ่งไปเสร็จเอาในยุคของ Louis-Antoine Breguet (ลูกของ Abraham-Louis Breguet) ดังนั้นถ้าไม่นับช่วงเวลา 7 ปีที่ Abraham-Louis ต้องลี้ภัยทางการเมืองหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส นาฬิกา Breguet

 

No. 160 หรือที่มีชื่อเล่นว่า “Marie-Antoinette” เรือนนี้ก็ต้องนับว่าใช้เวลาผลิตทั้งหมดถึง 37 ปีเต็ม! No. 160 หรือที่เรียกกันว่า Marie-Antoinette มีขนาดตัวเรือน 63 มิลลิเมตร ผลิตด้วยทองคำเกือบทั้งหมด มีกลไกคอมพลิเคชั่นทุกอย่างที่มีได้ในยุคนั้น ตั้งแต่เพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ อีเควชั่นออฟไทม์ มินิทรีพีทเตอร์ จัมปิ้งอาว์เออร์ มีแม้กระทั่งกลไกวัดอุณหภูมิ แถมยังใช้กลไกอัตโนมัติ ตุ้มเหวี่ยง (โรเตอร์) ผลิตจากแพลทตินั่ม ซับซ้อนจนได้รับเกียรติว่าเป็นนาฬิกาที่ซับซ้อนที่สุดในโลกอยู่ถึงกว่าร้อยปี (ต่อมาถูกทำลายสถิติโดย Patek Philippe Henry Graves Jr. Super Complication)

04 

ด้านหน้าของ No. 160

05

ด้านหน้าและด้านหลังของ No. 160

 

จากข้อมูลที่ปรากฏตามหอจดหมายเหตุของ Breguet เฉพาะในส่วนต้นทุนการสร้างนาฬิกาพกเรือนนี้ รวมทั้งหมดแล้วสูงถึง 17,070 ฟรังส์ซึ่งถือว่ามหาศาล ถ้าปรับมูลค่าตามอัตราเงินเฟ้อเทียบเป็นเงินปัจจุบันก็คือประมาณ 4 – 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นแค่ต้นทุนเท่านั้น

 

06

ภาพถ่ายหอจดหมายเหตุ No. 160”

 

หลังจากนาฬิกา Breguet No. 160 เสร็จสมบูรณ์แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว นาฬิกาเรือนนี้จึงถูกขายออกไป แต่ไม่ทราบว่าผู้ซื้อคนแรกคือใคร ทราบแต่ว่าในปี 1938 มีคนนำนาฬิกานี้มาเซอร์วิสครั้งแรกโดยใช้ชื่อ Marquis de la Groye of Provins (ชื่อนี้ไม่มีข้อมูลในประวัติศาสตร์ จึงคาดว่าศูนย์บริการสะกดชื่อผิด) ต่อมาก็ถูกขายต่อให้กับผู้มั่งคั่งในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษอีกหลายทอด จนไปถึงท่านเซอร์ David Lionel Goldsmid-Stern-Salomons นักสะสม ผู้เชี่ยวชาญและแฟนพันธุ์แท้นาฬิกา Abraham-Louis Breguet (และเป็นผู้เขียนหนังสือประวัติของ Breguet ด้วย)

 07

ท่านเซอร์ David Salomons

 

เมื่อท่านเซอร์ Salomons เสียชีวิตลง ก็ได้มอบนาฬิกาฝีมือ Abraham-Louis Breguet กว่า 50 เรือนรวมถึง No. 160 ให้แก่ Vera Bryce บุตรสาว (อีกส่วนหนึ่งมอบให้ภรรยา) ต่อมาคุณ Vera ก็บริจาคนาฬิการวมทั้งนาฬิกา Marie-Antoinette ให้กับพิพิธภัณฑ์ The L.A. Mayer Institute for Islamic Art ประเทศอิสราเอล ซึ่งที่นี่เองก็เป็นสถานที่ที่ Dr. George Daniels ผู้เชี่ยวชาญและแฟนพันธุ์แท้นาฬิกา Abraham-Louis Breguet อีกท่านหนึ่ง ได้มาเรียนรู้และศึกษางานของ Abraham-Louis Breguet โดยละเอียด

 

08. L.A.Mayer Ins

The L.A. Mayer Institute for Islamic Art

 

ดราม่ากลางเรื่องเริ่มขึ้นในปี 1983 ที่โจรชื่อ Na'aman Diller ล่วงรู้ว่าระบบสัญญาณเตือนภัยของพิพิธภัณฑ์เสียอยู่ จึงวางแผนและทำการโจรกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนาฬิกา โดยงัดหน้าต่างเข้าไปโกยนาฬิกาล้ำค่ากว่า 100 ชิ้น รวมทั้ง No. 160 หนีไป โดยเอาไปซ่อนไว้ในตู้เซฟหลายแห่งทั้งในฝั่งยุโรปและอเมริกา คงเพราะรู้ว่าของหลายชิ้นมีชื่อเสียงโด่งดังเกินกว่าที่จะเอาออกมาขายแบบเปิดเผย แล้ว Diller ก็อันตรธาน และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ Los Angeles ประเทศสหรัฐอเมริกา 

 09

ภาพสถานที่เกิดเหตุ

 

ไม่ใช่ว่าทางตำรวจจะไม่สงสัย Diller แต่เพราะไม่มีหลักฐานอะไรจะไปจับกุมได้ ทั้งที่ตำรวจพยายามตามตามหานาฬิกาล้ำค่าเหล่านี้อย่างสุดความสามารถ โดยขอความช่วยเหลือจากทางตำรวจสากลก็แล้ว ไล่ตามเบาะแสกับนักสะสมและบริษัทประมูลอยู่หลายปีก็แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรโผล่ออกมาอีกเลย เวลากว่ายี่สิบปีผ่านไป ทุกคนแม้กระทั่ง Mr. Nicolas Hayek ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Breguet เองก็คิดว่านาฬิกา Marie-Antoinette ซึ่งถือเป็นชิ้นงานที่ดีที่สุดและล้ำค่าที่สุดของ Breguet คงสูญหายไปตลอดกาลเป็นแน่ โดยทางแบรนด์ Breguet เองถึงกับมีโครงการสร้างนาฬิกา No. 160 ขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 2004 และใช้ชื่อว่า No. 1160 เพื่อทำการทดแทนนาฬิกา No. 160 ที่สูญหายไป

  

แต่แล้วในปี ค.ศ. 2006 (ในขณะที่นาฬิกา No. 1160 ก็ยังสร้างไม่เสร็จ) ปรากฏว่าอยู่ๆ ทางพิพิธภัณฑ์ก็ได้รับการติดต่อจากทนายความคนหนึ่งว่าลูกความของเขา ซึ่งเป็นมะเร็งและได้เสียชีวิตไปแล้วได้สารภาพกับทนายว่าเมื่อกว่า 20 ปีก่อนได้ขโมยของจากพิพิธภัณฑ์ไป คุณผู้หญิงซึ่งเกี่ยวพันธ์กับลูกความอย่างไรก็ไม่รู้แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ได้แสดงความประสงค์จะคืนสิ่งของเหล่านี้ให้กับเจ้าของที่ชอบธรรม โดยมีเงื่อนไขว่าเขาขอปิดบังตัวตนและขอค่าสินน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ในการคืนของด้วย (ทั้งนี้อาจเพราะทราบว่ามีการตั้งรางวัลนำจับไว้สูงถึง 2 ล้านเหรียญ)

 

เกือบปีที่ทั้งสองฝ่ายเปิดเจรจากันผ่านทนายความ จนในที่สุดก็สามารถตกลงค่าสินน้ำใจกันได้ที่ 35,000 เหรียญสหรัฐ นับเป็นเวลานานถึง 23 ปีหลังจากที่นาฬิกาถูกขโมยไป นาฬิกาจำนวน 53 ชิ้นจากทั้งหมด 100 กว่าชิ้นก็ถูกส่งคืนให้กับพิพิธภัณฑ์ในปี 2007 โดยนาฬิกาเหล่านี้ถูกคืนในสภาพที่ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วบรรจุลงในโถ นาฬิกาบางเรือนได้รับความเสียหายมากน้อยต่างกันไป แต่ที่สำคัญ ผู้อำนวยการด้านงานศิลป์ของพิพิธภัณฑ์ถึงกับหลั่งน้ำตา เมื่อคุ้ยโถไปและพบว่ามี No. 160 Marie-Antoinette อยู่ด้วยในสภาพที่มีร่องรอยความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

11

เจอแล้วววว!

 

เรื่องมีต่ออีกนิดหน่อย ตรงที่เมื่อพิพิธภัณฑ์ได้ของคืนก็ไม่ยอมแถลงข่าวอยู่หลายเดือน (ส่วนหนึ่งเพราะได้รับเงินประกันจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว) คงต้องมานั่งคิดว่าต้องทำอย่างไรต่อดี ระหว่างนั้นตำรวจได้เบาะแสจากข่าวที่เริ่มรั่วออกมาเพิ่มเติม จนสามารถติดตามตัวคุณผู้หญิงที่ต้องการขอคืนนาฬิกาเหล่านี้จนพบปรากฏว่าคนๆ นั้นคือนาง Nili Shamrat ภรรยาของ Na'aman Diller ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง และสุดท้ายก็สามารถตามเอานาฬิกาอีก 43 ชิ้นที่ถูกซ่อนอยู่ในเซฟที่ประเทศฝรั่งเศสกลับคืนมาได้ในปี 2008 ก็ถือว่าแฮปปี้เอนดิ้งกันไป แต่ก็ยังน่าเสียดายที่มีนาฬิกาอีก 10 ชิ้นที่ยังคงหายสาบสูญไป

 

ปัจจุบัน นาฬิกา Marie-Antoinette จึงได้กลับบ้านที่ประเทศอิสราเอลอย่างปลอดภัย โดยปัจจุบันมีมูลค่าประเมินราวๆ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนพิพิธภัณฑ์ก็ได้ลงทุนอัพเกรดระบบรักษาความปลอดภัยและห้องนิรภัยขนานใหญ่เลยทีเดียว และหลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2008 Mr. Hayek และแบรนด์ Breguet ถึงได้เปิดตัวผลงานนาฬิกา No. 1160 ในงาน Baselworld ขึ้นในปี 2008 ก็ถือว่าช้าไปเพียงนิดเดียว ไม่อย่างนั้นคงไม่มี No. 160 เรือนจริงมาเทียบกับ No. 1160 กันได้อย่างชัดๆ ในทุกวันนี้ 

 11. Replica No. 1160

Breguet No. 1160

 

 

Rittidej