SIHH 2018 - FIFTYSIX คอลเลคชั่นใหม่ของนาฬิการะดับเริ่มต้นจากแบรนด์สุดหรู VACHERON CONSTANTIN

 

เอาแล้วสิ…. ปีนี้แบรนด์นาฬิกาสุดหรูที่มีประวัติความเป็นมาอันแสนเก่าแก่อย่าง VACHERON CONSTANTIN (วาเชอรอง คองสตองแตง) ส่งนาฬิกาคอลเลคชั่นใหม่เอี่ยมในชื่อว่า FIFTYSIX ออกสู่ตลาดในฐานะนาฬิการะดับเริ่มต้น (เอ็นทรี่-เลเวล) ของแบรนด์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนเป็นเจ้าของนาฬิกาของตนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม (อีกนิดนึง) โดยนอกจากการเริ่มต้นด้วยเวอร์ชั่นตัวเรือนวัสดุสตีลแล้ว ทางแบรนด์ยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการยอมให้รุ่นสามเข็มฟังก์ชั่นวันที่ซึ่งเป็นรุ่นเริ่มต้นของคอลเลคชั่นนี้ ไม่ต้องมีมาตรฐาน “ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา” มาค้ำต้นทุนอีกต่างหาก เรียกว่าฉีกกฏเกณฑ์ธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองกันเลย

 

 

เหนือความคาดหมาย

 

โดยปกติแล้ว ตำแหน่งที่ VACHERON CONSTANTIN ยืนอยู่นั้น เป็นนาฬิกาหรูที่เพียบพร้อมด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าในตัวเองจากมาตรฐานระดับสูงของทุกชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลไกอินเฮ้าส์ชั้นเลิศ วัสดุมากมูลค่า งานฝีมือชั้นครู และมาตรฐานการควบคุมคุณภาพอันแสนเข้มงวด เจนีวาซีล ที่ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาได้ยกระดับจากการควบคุมคุณภาพของเฉพาะตัวกลไกมาครอบคลุมแทบทุกขั้นตอนในการสร้างทั้งตัวเรือนและกลไก ตั้งแต่ออกแบบ ประกอบ ตกแต่ง ไปจนถึงเมื่อประกอบกลไกเข้ากับตัวเรือนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรใกล้เคียงกับการเป็นนาฬิกาทั่วไปที่มีระดับราคาเป็นมิตรกับผู้คนส่วนใหญ่ของโลก แต่การมาของคอลเลคชั่น FIFTYSIX ในปีนี้ได้ทลายกำแพงที่เคยขวางกั้นผู้คนจำนวนมากกับแบรนด์สุดหรูแบรนด์นี้ลงแล้ว

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 3

 

จริงอยู่ที่ทาง VACHERON CONSTANTIN ก็มีผลิตนาฬิกาที่เหมือนจะเป็นเอ็นทรี่-เลเวล ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างคอลเลคชั่น Quai de l’Ile นาฬิกาแนวเดรสอารมณ์สปอร์ต ที่เมื่อปี 2016 ได้มีรุ่นตัวเรือนสตีล กลไกอัตโนมัติ สามเข็ม พร้อมฟังก์ชั่นวันที่ ออกมา และยังคงแบกมาตรฐาน ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา ไว้เช่นเดียวกับคอลเลคชั่นอื่นๆ โดยเปิดตัวมาด้วยราคา 16,400 ยูโร (ราว 640,000 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ซึ่งด้วยราคานี้ก็ยังไม่ถือว่าต่ำนักเมื่อเทียบกับนาฬิกาเอ็นทรี่-เลเวล ยิ่งกว่า อย่าง FIFTYSIX คอลเลคชั่นใหม่ที่ออกมาในปีนี้ เพราะสำหรับรุ่นกลไกอัตโนมัติ สามเข็ม ฟังก์ชั่นวันที่ เวอร์ชั่นตัวเรือนสตีล ซึ่งเป็นรุ่นที่ไม่มีมาตรฐาน ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา มาค้ำคอนั้นถูกวางราคาเอาไว้เพียง 428,300 บาท* และหากเป็นเวอร์ชั่นตัวเรือนทองคำ (ซึ่งไม่มีมาตรฐาน ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา รับรองเช่นกัน) ก็วางราคาไว้แค่ 715,000 บาท* เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าวางระดับราคาได้อย่างเป็นมิตรที่สุดเท่าที่ทางแบรนด์ VACHERON CONSTANTIN ในยุคปัจจุบันเคยทำมา!!!

 

 

ดีไซน์ใหม่หมด อิงสไตล์คลาสสิกจากประวัติศาสตร์ของตน

 

ดีไซน์ของคอลเลคชั่น FIFTYSIX ถูกออกแบบมาในลักษณะนาฬิกาเดรสวอตช์ แฝงอารมณ์วินเทจที่มีความงามสง่าและลักษณะเฉพาะตัวในสไตล์ VACHERON CONSTANTIN อยู่อย่างครบถ้วน โดยมีต้นแบบในการสร้างสรรค์มาจากนาฬิกา Ref. 6073 ของตนเองซึ่งสร้างขึ้นในปี 1956 อันเป็นที่มาของชื่อคอลเลคชั่น FIFTYSIX นั่นเอง

 

Vacheron Constantin ref. 6073 circa 1956

VACHERON CONSTANTIN Ref. 6073 จากปี 1956

 

ตัวเรือนสไตล์เดรสที่มีดีไซน์ขาตัวเรือนเป็นแถบชิ้นหนาแต่เพรียวบางคล้ายลักษณะของตราสัญลักษณ์ “มัลตีส ครอส” ของแบรนด์ อันเป็นเอกลักษณ์ของรุ่น Ref. 6073 ถูกนำมาตีความใหม่หมดเป็น FIFTYSIX โดยลดความเป็นเดรสที่ดูเป็นทางการลงด้วยเส้นสายที่คมชัดและมีความซับซ้อนซึ่งทำให้ดูทันสมัย คงเหลือไว้เพียงกลิ่นจางๆ ของรุ่นต้นฉบับ จนน่าจะเรียกได้ว่าเป็นนาฬิกาเดรสที่ดูเป็นทางการน้อยที่สุดในหมู่คอลเลคชั่นปัจจุบันของทางแบรนด์แล้ว

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 2

 

สไตล์วินเทจที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของ FIFTYSIX ก็เห็นจะเป็น กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์ที่ทำเป็นทรงกล่องครอบ และดีไซน์บนแผ่นหน้าปัดโลหะที่ใช้ชิ้นหลักชั่วโมงเลขอารบิกที่ตำแหน่งเลขคู่ ร่วมกับแบบแท่งบาตองที่ตำแหน่งเลขคี่ ในขนาดสมส่วน ขนาบด้วยวงสเกลแบบปิดขอบ 2 วง พื้นหน้าปัดรอบนอกจะเป็นผิวขัดลาย ส่วนวงในบริเวณกลางหน้าปัดจะเป็นแบบโอปอลีนผิวด้าน โดยคั่นแบ่งด้วยวงสเกลนาทีแบบรางรถไฟ ทั้งหมดนี้ดูขลังและไปกันได้ดีกับภาพรวมของนาฬิกา

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Complet 1

 

ขนาด 40 มม. ของตัวเรือนที่ใช้กับ FIFTYSIX ก็ถือว่ากำลังดี ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ซึ่งเมื่อรวมกับดีไซน์แล้วก็ดูเหมาะกับยุคปัจจุบันดี แม้จะมีสไตล์วินเทจเจืออยู่แต่ก็ดูร่วมสมัยและไม่ดูสูงวัยมากนัก ส่วนฝาหลังก็จะเป็นแบบผนึกกระจกแซฟไฟร์เพื่อให้มองเห็นความงามของกลไกและโรเตอร์ได้ ส่วนความหนาของตัวเรือนนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น โดยรุ่นเบสิกที่สุดอันได้แก่ รุ่นกลไกอัตโนมัติ แสดงเวลาสามเข็มพร้อมฟังก์ชั่นวันที่นั้นมีความหนาอยู่ที่ 9.6 มม. ส่วนรุ่นอื่นๆ ที่เหลือก็มีความหนาแค่ 11.6 มม. เท่านั้น ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วก็ไม่ได้หนาจนเกินไป หากไม่ได้จัดมันเข้าไปอยู่ในหมวดนาฬิกาคลาสสิกเดรสแบบเนี๊ยบๆ อีกทั้งความหนาส่วนหนึ่งก็มาจากรูปทรงของกระจกหน้าปัดนั่นล่ะ

 

 

3 รุ่น 3 ฟังก์ชั่นให้เลือกเป็นเจ้าของ

 

คอลเลคชั่น FIFTYSIX เปิดตัวออกมาพร้อมกันด้วยนาฬิกากลไกอัตโนมัติ 3 รุ่น ต่างระดับฟังก์ชั่น (และราคา) เริ่มกันตั้งแต่รุ่น “เดท” (FIFTYSIX Self-Winding) ฟังก์ชั่นพื้นฐานสามเข็มพร้อมวันที่ รุ่น “เดย์-เดท เพาเวอร์รีเสิร์ฟ” (FIFTYSIX Day-Date) ฟังก์ชั่นบอกเวลาสามเข็มพร้อมแสดงวันกับวันที่และกำลังสำรองด้วยเข็ม และรุ่น “คอมพลีท คาเลนดาร์” ฟังก์ชั่นสามเข็มพร้อมแสดงวัน วันที่ และเดือน ซึ่งทุกรุ่นจะมีให้เลือกทั้งเวอร์ชั่นตัวเรือนพิงค์โกลด์ และเวอร์ชั่นตัวเรือนสตีล เพื่อให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์การเป็นคอลเลคชั่นระดับเริ่มต้น (เอ็นทรี่-เลเวล) ของแบรนด์อย่างที่ตั้งใจไว้ โดยจะสวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีเทาเข้ม ในเวอร์ชั่นสตีล ซึ่งล็อคด้วยตัวล็อคแบบปีกผีเสื้อ หรือสีน้ำตาลเข้ม ในเวอร์ชั่นพิ้งค์โกลด์ ซึ่งล็อคด้วยหัวเข็มขัดพิ้งค์โกลด์

 

 Vacheron Constantin FiftySix

 

เวอร์ชั่นตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ จะมากับพื้นหน้าปัดสีเงิน และใช้ชิ้นหลักชั่วโมง ตรา มัลตีส ครอส กับเข็ม เป็นสีพิ้งค์โกลด์ ส่วนเวอร์ชั่นตัวเรือนสตีล จะใช้พื้นหน้าปัดโทนสีเทา ที่มีวงสเกลนาทีบริเวณขอบหน้าปัดเป็นสีดำ ขณะที่วงสเกลนาทีวงในใช้เป็นพื้นสีเงิน โดยมีชิ้นหลักชั่วโมง ตรา มัลตีส ครอส และเข็มเป็นสีเงิน โดยที่เข็มชั่วโมงกับนาทีและแท่งหลักชั่วโมงนั้นจะมีการเคลือบสารเรืองแสงมาให้ด้วย

 

 

FIFTYSIX SELF-WINDING (Ref. 4600E)

 

นาฬิกาฟังก์ชั่นสามเข็มพร้อมวันที่อันเป็นรุ่นพื้นฐานที่สุดและเป็นรุ่นเดียวที่ “ไม่มี” ตรา “ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา” มารับรองมาตรฐานรุ่นนี้ ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ เครื่องใหม่ รหัสคาลิเบอร์ 1326 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งให้กำลังสำรองได้ 48 ชั่วโมง ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ทองคำ 22 เค ที่ฉลุโอเพ่นเวิร์คเป็นตรา มัลตีส ครอส อย่างสวยงาม และถึงแม้จะเป็นเครื่องแบบเบสิกๆ ทั้งยังไม่มีมาตรฐาน ฮอลล์มาร์ ออฟ เจนีวา รับรอง แต่ตัวเครื่องก็ยังคงได้รับการตกแต่งมาอย่างสวยงามใช้ได้เลยทีเดียว

 

Vacheron Constantin FiftySix Date 6

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 5

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 4

 

รูปแบบหน้าปัดที่มีรายละเอียดกระจายอยู่อย่างสมดุลตามดีไซน์โค้ดร่วมกันของคอลเลคชั่น FIFTYSIX ทำให้นาฬิการุ่นนี้ดูมีของ แม้จะมีเพียงฟังก์ชั่นเดทที่แสดงค่าผ่านกรอบหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดเล็กตำแหน่ง 3 นาฬิกาตามรูปแบบปกติของนาฬิกาสไตล์คลาสสิกก็ตาม ส่วนด้านราคาก็อย่างที่แจ้งไปตอนต้นแล้วว่า มันถูกวางตัวเป็นรุ่นเบสิกที่สุด เอ็นทรี่ที่สุด ของนาฬิกา VACHERON CONSTANTIN ทั้งหมดในปัจจุบัน นั่นก็คือ 428,300 บาท* ในเวอร์ชั่นสตีล และ 715,000 บาท* ในเวอร์ชั่นพิ้งค์โกลด์

 

 

FIFTYSIX DAY-DATE (Ref. 4400E)

 

ขยับขึ้นมาอีกนิดจากรุ่นฟังก์ชั่น เดท ก็จะเป็นรุ่น เดย์-เดท ที่แสดงเวลาแบบสามเข็มพร้อมแสดงวันกับวันที่ด้วยเข็มอีก 2 ชุด บนวงหน้าปัดวงเล็ก 2 วง ณ ตำแหน่ง 9 กับ 3 นาฬิกา และมีฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรองด้วยเข็มมาให้โดยวางตำแหน่งไว้ที่ 6.30 นาฬิกา ชี้แสดงไปยังมาตรสเกลทรงโค้งบนพื้นแถบสีเงิน ทั้งหมดนี้เพิ่มความเยอะมาให้บนหน้าปัดพอควร แต่ด้วยรูปแบบฟ้อนต์ของวันกับวันที่ซึ่งเป็นสีดำบางๆ ที่ดูคลาสสิกและไม่ใหญ่จนเกินไปบวกกับพื้นลายสเนลด์มีมิติของวงทั้งสอง ร่วมด้วยเข็มขนาดเล็กทั้งสามที่เป็นสีดำ ก็ดูกลมกลืนและสวยงามดี อีกทั้งในเวอร์ชั่นพิ้งค์โกลด์นั้น ที่วงขอบหน้าปัดวงเล็กทั้งสองยังแต่งด้วยเส้นสีทองเพิ่มความหรูอีกต่างหาก ขณะที่บนมาตรสเกลกำลังสำรองนั้น ในตำแหน่งเตือนใกล้จะหมดลานก็จะเป็นสีทองด้วย (เวอร์ชั่นสตีลจะใช้ตำแหน่งเตือนเป็นแถบสีเทา)

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX day date 1

 

Vacheron Constantin Fiftysix Day date

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX day date 2

 

การขับเคลื่อนนาฬิการุ่นนี้เป็นหน้าที่ของกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 2475 SC/2 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกลไกที่มีใช้ในคอลเลคชั่นอื่นๆ อยู่แล้ว โรเตอร์ที่ใช้กับรุ่นนี้ก็เป็นโรเตอร์ทองคำ 22 เค ที่มีลักษณะเดียวกับรุ่น เดท หากแต่รูปแบบการตกแต่งของกลไกนั้นมีความละเอียดสวยงามกว่า ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่านาฬิกาและเครื่องรุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นตามมาตรฐานระดับสูง “ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา” นั่นเอง แต่ถึงกระนั้นราคาที่วางไว้ก็น่าจะอยู่ในระดับที่แฟนๆ ของแบรนด์รับได้ โดยเวอร์ชั่นตัวเรือนสตีล แจ้งไว้ที่ 638,000 บาท* ส่วนเวอร์ชั่นตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ จะอยู่ที่ 1,195,100 บาท*

 

 

FIFTYSIX COMPLETE CALENDAR (Ref. 4000E)

 

นาฬิกาสามเข็มฟังก์ชั่นคอมพลีทคาเลนดาร์พร้อมมูนเฟสรุ่นนี้ เป็นรุ่นท็อปสุด ณ ขณะนี้ของคอลเลคชั่น FIFTYSIX แล้ว จุดเด่นที่สุดคงต้องยกให้การเป็นนาฬิกาบอกเวลาสามเข็มพร้อมฟังก์ชั่นคอมพลีทคาเลนดาร์ (หรือ ทริปเปิ้ล คาเลนดาร์) ที่วางตำแหน่งการแสดงค่าปฏิทินและมูนเฟสมาอย่างสวยงามลงตัวได้สมดุล ซึ่งก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับรุ่น Historiques Triple Calendrier 1948 ที่เปิดตัวเมื่อปี 2017 ด้วย (ที่อ้างอิงรูปแบบมาจากรุ่นวินเทจสมัยปี 1948) ช่องหน้าต่างแสดงวันกับเดือนจัดวางไว้คู่กันอยู่ใต้ชื่อแบรนด์ทางครึ่งบนของหน้าปัด ปล่อยครึ่งล่างเป็นพื้นที่ของช่องหน้าต่างมูนเฟส โดยมีจานมูนเฟสเป็นพื้นสีน้ำเงินเข้มและมีดวงพระจันทร์เป็นสีเดียวกับตัวเรือน ขณะที่การแสดงวันที่จะใช้เข็มกลายสีน้ำเงินปลายศรชี้ไปยังสเกลตัวเลขบริเวณวงขอบหน้าปัด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ภาพรวมของรุ่นนี้ดูมีความวินเทจกว่า FIFTYSIX รุ่นอื่นๆ

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX complet 2

 

Vacheron FiftySix Complet 1

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX complet 3

 

กลไกรุ่นนี้เป็นการนำกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 2460 อันเป็นกลไกพื้นฐานที่ถูกนำมาเพิ่มเติมโมดูลฟังก์ชั่นต่างๆ อยู่เสมอๆ เพื่อใช้ในนาฬิกาหลากรุ่นหลายแบบ มาติดตั้งโมดูลคอมพลีทคาเลนดาร์และมูนเฟสเพิ่มเติมเข้าไป โดยตั้งชื่อว่า คาลิเบอร์ 2460 QCL/1 โดยยังคงมีกำลังสำรองที่ 40 ชั่วโมงตามมาตรฐานของกลไกคาลิเบอร์นี้ ส่วนโรเตอร์ของเครื่องนี้ก็เป็นวัสดุทองคำ 22 กะรัต ที่ฉลุโอเพ่นเวิร์คมาแบบเดียวกับกลไกของ FIFTYSIX รุ่นอื่นๆ และแน่นอนว่าเมื่อเป็นรุ่นท็อปของคอลเลคชั่น นาฬิการุ่นนี้จึงต้องสร้างขึ้นตามมาตรฐานการรับรอง ฮอลล์มาร์ค ออฟ เจนีวา ด้วย จึงไม่ต้องกังขาทั้งในด้านความสวยงามของการตกแต่งและสมรรถนะการทำงานของกลไก สำหรับเรื่องของราคานั้น ทางแบรนด์ตั้งค่าตัวของรุ่นเรือนสตีลเอาไว้ที่ 795,600 บาท* ขณะที่รุ่นเรือนพิ้งค์โกลด์จะอยู่ที่ 1,317,000 บาท* ครับ

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX complet 4

 

*ราคาเป็นเงินบาท อ้างอิงตามที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.vacheron-constantin.com

 

 

By: Viracharn T.