"อินเฮ้าส์ทั้งตัวและหัวใจ" การกำเนิดของ TAG HEUER CARRERA CALIBRE 1887

 

คนที่สนใจเรื่องนาฬิกาย่อมรู้กันดีว่า ตลอดระยะเวลาเป็นสิบๆ ปีที่ผ่านมานั้น เครื่องนาฬิกาสวิสส่วนใหญ่ที่อยู่ในนาฬิกาแบรนด์ต่างๆ หลากสัญชาติมากมายเป็นร้อยๆ แบรนด์ในโลกนี้จะผลิตโดย ETA ซึ่งอยู่ภายใต้ปีกของอาณาจักร Swatch Group กันทั้งนั้น หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว จากการประเมินก็น่าจะอยู่ในราว 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หลายคนก็คงคิดหาเหตุผลไปต่างๆ นานาว่า ทำไมเครื่อง ETA คาลิเบอร์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบอกเวลาปกติหรือเครื่องโครโนกราฟก็ตาม เมื่ออยู่ในนาฬิกาต่างแบรนด์ต่างระดับศักดิ์ศรีกันถึงมีระดับราคาที่ห่างกันมากเหลือเกิน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีเหตุผลมากมายที่พอจะมาอธิบายได้ แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ก็คงต้องอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน 

 

แต่หลังจากที่ Swatch Group ประกาศที่จะเลิกส่งเครื่องให้กับแบรนด์นาฬิกาทั่วๆ ไป ที่อยู่นอกเครือ หรือไม่ได้มีข้อตกลงพิเศษใดๆ ต่อกัน โดยมีระยะเวลาพอให้แบรนด์ต่างๆ คิดหาทางขยับขยายได้บ้างแล้ว แต่ละแบรนด์ก็หาทางออกด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่หลักๆ ก็จะมีอยู่ 2 ทาง คือ ถ้าไม่รีบไปติดต่อซื้อเครื่องจากผู้ผลิตเครื่องรายอื่นๆ อย่าง Sellita หรือ Soprod เป็นต้น ก็ต้องหาทางพัฒนาและผลิตเครื่องของตนขึ้นใช้เอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้วยตนเองสำหรับแบรนด์ที่มีศักยภาพพอหรือว่าจ้างให้บริษัทต่างๆ ที่รับพัฒนาเครื่องมาช่วยทำ หรือแบรนด์ที่อยู่ในเครือใหญ่ก็อาจจะขยับตัวด้วยการนำเครื่องอินเฮ้าส์ของแบรนด์นาฬิกาในเครือมาปรับใช้ ส่วนบางแบรนด์ก็อาจจะใช้หลายๆ วิธีที่ว่าร่วมกันตามที่ตนเห็นสมควรดังเช่นแบรนด์ขายดีอย่าง TAG Heuer ซึ่งยังคงใช้เครื่องจากผู้ผลิตรายอื่นที่นำมาปรับปรุงรายละเอียดในแนวทางของตนเหมือนที่เคยเป็นมาในบางคอลเลคชั่น และนำเสนอนาฬิกาคอลเลคชั่นใหม่ที่ใช้เครื่องที่ตนผลิตขึ้นด้วยตัวเองไปพร้อมๆ กัน ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น

 

สังเกตเห็นได้ว่า หลายแบรนด์ที่ตัดสินใจพัฒนาเครื่องของตนขึ้นใช้เองจากเหตุที่ ETA จะเลิกซัพพลายเครื่องให้ ไม่ว่าจะเป็น Hublot หรือ Breitling รวมถึง TAG Heuer เอง จะเริ่มพัฒนาเครื่องแบบโครโนกราฟขึ้นมาก่อน ด้วยความที่อาจจะเป็นฟังก์ชั่นหลักอันเป็นจุดขายของแบรนด์ที่เน้นความเป็นสปอร์ตเหล่านี้ และเครื่องนาฬิกาแบบบอกเวลาธรรมดาก็ทำง่ายกว่ามากหรือก็ยังมีทางออกที่ง่ายกว่านั่นเอง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับนาฬิการุ่นที่นำเอาเครื่องอินเฮ้าส์มาบรรจุด้วย 

 

 

Calibre11S

 

Calibre 11 เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟเครื่องแรกของโลก เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1969 เป็นเครื่องที่ทาง Heuer พัฒนาขึ้นโดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในวงการนาฬิกาอีก 3 แห่ง เครื่องนี้มี 17 จิวเวล และขึ้นลานด้วยไมโครโรเตอร์ เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เครื่องโครโนเมติก

 

 

จริงๆ แล้ว Heuer ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่เป็นเจ้าของตำนานในการบุกเบิกทำเครื่องนาฬิกาอัตโนมัติโครโนกราฟเป็นเครื่องแรกๆ ของโลกในยุคทศวรรษที่ 1960 เคียงบ่าเคียงไหล่ในยุคเดียวกับเครื่อง El Primero ของ Zenith ที่เคยนำมาใช้ใน Rolex Daytona ตลอดจนบริษัทนาฬิกาเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง Seiko รวมถึง Breitling ที่ร่วมพัฒนาเครื่องนี้กับ Heuer ในยุคนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ TAG Heuer เลือกที่จะฟื้นคืนตำนานการผลิตเครื่องอันยิ่งใหญ่ของแบรนด์ขึ้นมาอีกครั้งด้วยการผลิตเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟขึ้นใช้เอง อีกทั้งยังประกาศความสามารถของตนด้วยการทยอยสร้างตำนานบทใหม่แห่งโครโนกราฟด้วยเครื่องนาฬิกาจักรกลที่จับเวลาในหน่วยย่อยของวินาทีได้จนถึงระดับ 1/100, 1/1,000 จนถึง 5/10,000 ใน Calibre 360, Mikrotimer และ Mikrogirder ตามลำดับ ทั้งยังตั้งเป้าในการผลิตเครื่องโครโนกราฟให้ได้ในระดับปีละ 100,000 เครื่องภายในสิ้นปี 2013 ซึ่งจะกลายเป็นจำนวนมากอันดับสองรองจาก Swatch Group เลยทีเดียว เพิ่มขึ้นจากระดับ 50,000 เครื่องในปัจจุบันซึ่งก็พอๆ กับกำลังการผลิตเครื่อง Daytona ของ Rolex ซึ่งอยู่ที่ราว 40,000-50,000 เครื่องต่อปี

 

 

Carrera 1887 movement SEDUCTION HD 2012 S

 

เครื่อง Calibre 1887 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 29.3 มิลลิเมตร หนา 7.13 มิลลิเมตร 39 จิวเวล ประกอบจากชิ้นส่วน 320 ชิ้น เดินด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง มีกำลังสำรองราว 40 ชั่วโมงหากใช้งานฟังก์ชั่นจับเวลา และ 50 ชั่วโมงในการบอกเวลาปกติ ขัดแต่งชิ้นส่วนต่างๆ ให้สวยงามด้วยลายโค้ตเดอเชอแนฟและลายก้นหอย ตัวเลข 1887 ของชื่อเครื่องนี้มาจากปี ค.ศ.ที่ Heuer ได้รับสิทธิบัตรนวัตกรรมสำหรับการคิดค้นออสซิลเลทิง พิเนียน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบจับเวลาในเครื่องนาฬิกาโครโนกราฟทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟที่ทาง TAG Heuer ผลิตขึ้นเองนี้มีชื่อว่า Calibre 1887 โดยมีไลน์การผลิตอันทันสมัยอยู่ 2 หน่วยงานด้วยกัน คือ ที่เวิร์คช็อปซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือห่างออกไปจาก ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ประมาณ 1 ชั่วโมง ทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนหลักของเครื่อง อาทิ เมนเพลท และบริดจ์ ด้วยเครื่องจักรทรงประสิทธิภาพ และที่โรงงานใน ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส ซึ่งมีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย ส่วนการประกอบเครื่อง ส่วนการตรวจสอบ ไปจนถึงการประกอบเข้ากับหน้าปัด ตัวเรือน และสาย ให้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นเรือนนาฬิกาโดยสมบูรณ์ 

 

 

TAG Heuer Calibre 1887S

 

เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre 1887 ที่ TAG Heuer ผลิตขึ้นภายในโรงงานของตนเอง เป็นเครื่องระบบโครโนกราฟที่ใช้กลไกจับเวลาแบบคอลัมน์วีล โดยมีออสซิลเลทิง พิเนียน ทำหน้าที่เชื่อมต่อชุดเกียร์ด้วยการเคลื่อนที่ในทิศทางแนวนอนเพื่อเข้าสัมผัส ทำให้กลไกจับเวลาทำงานเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับกลไกการเดินบอกเวลา สามารถเริ่มทำงานได้โดยเฉียบพลันภายใน 2/1,000 วินาทีเมื่อกดปุ่มสั่งการ ทั้งยังมีระบบ HER (High Efficiency Rewinding ที่ลดการสูญเสียพลังงานในการส่งกำลังจากโรเตอร์ไปยังเมนสปริงได้ถึง 30เมื่อเทียบกับเครื่องทั่วไป

 

 

DSC 8794S DSC 8818S

 

DSC 9013S DSC 8827S

 

 

การประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ จำนวนมากลงบนเมนเพลทของเครื่องจะถูกกระทำภายในห้องประกอบเครื่องอันแสนโมเดิร์นซึ่งอยู่ที่โรงงานใน ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส พื้นของห้องถูกปูด้วยแผ่นดักฝุ่นซึ่งมีความเหนียวอยู่ในตัวเพื่อดักจับฝุ่นจากรองเท้าไม่ให้เล็ดรอดไปแปดเปื้อนบนตัวเครื่องและชิ้นส่วน แต่ละจุดจะมีช่างนาฬิกาพร้อมที่คีบในมืออยู่หลายท่าน แต่ละท่านจะทำหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนจิ๋วๆ ตลอดจนเฟืองและเลเวอร์ ผ่านหน้าจอความละเอียดสูงซึ่งรับภาพจากกล้องไมโครสโคปพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้อันทันสมัย ตามความรับผิดชอบของตนอย่างถูกต้องแม่นยำ ก่อนส่งผ่านสู่ขั้นตอนการปรับตั้งและตกแต่งอย่างละเอียดพิถีพิถัน เมื่อเสร็จแล้วก็เข้าสู่การตรวจสอบโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะวัดความถี่ในการทำงานของบาลานซ์วีลว่าทำงานได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ งานที่เสร็จสมบูรณ์ก็จะไปรอหน้าปัดที่จะมาประกอบในขั้นตอนต่อไป 

 

 

DSC 8851S DSC 8865S

 

DSC 8972S DSC 8986S

 

 

งานผลิตหน้าปัดนั้นจะถูกทำขึ้นที่โรงงานอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ArteCad ซึ่งห่างออกไปจากโรงงาน ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส 20 กิโลเมตร โรงงานแห่งนี้เป็นของ LVMH ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TAG Heuer เช่นกัน การผลิตแผ่นหน้าปัดของโรงงานแห่งนี้มิใช่เป็นเพียงการพ่นสีหรือเพ้นท์สีต่างๆ ลงไปบนแผ่นหน้าปัดแล้วก็เพ้นท์หรือนำหลักชั่วโมงมาติดเข้าไปเท่านั้น แต่มีขั้นตอนการผลิตถึงประมาณ 200 ขั้นตอนเลยทีเดียว โดยแต่ละขั้นตอนจะต้องถูกคั่นด้วยการล้างทำความสะอาดอีกด้วย โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานเก่าแก่ที่ผลิตหน้าปัดนาฬิกามาถึง 125 ปีแล้ว ปัจจุบันมีกำลังการผลิตหน้าปัดให้กับแบรนด์นาฬิกาต่างๆ รวมทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 300,000 หน้าปัดต่อปี

 

 

DSC 9394S DSC 9447S

 

DSC 9457S DSC 9557S

 

 

ทุกกระบวนการผลิตหน้าปัดของ ArteCad ถูกทำขึ้นภายในโรงงานแห่งนี้ทั้งหมด เริ่มต้นจากการตอกรูปทรงของแผ่นหน้าปัดออกจากแผ่นทองเหลืองที่ผ่านการรีดด้วยแรงบีบอัดถึง 200 ตัน และอบในอุณหภูมิ 500 องศามาในระดับ 3 ถึง 5 ครั้ง จากนั้นก็นำมาหุ้มด้วยเงิน ทำสี เพ้นท์ พิมพ์ แกะลาย สลักลาย และขัดแต่ง ตามแต่แบบที่ต้องการ ต่อด้วยการใช้มือคนในการติดตั้งหลักชั่วโมงที่ตัดด้วยเลเซอร์ซึ่งควบคุมโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อความประณีต ก่อนเข้าสู่กระบวนการฉีดสารเรืองแสงซูเปอร์ลูมิโนว่าไปบนตำแหน่งที่ต้องการ สุดท้ายแล้วหน้าปัดทุกชิ้นจะถูกนำมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์ก็จะนำมาเคลือบสารป้องกันที่เรียกว่า Zapon หนา 10 ไมครอนเพื่อให้มีความคงทน จากนั้นก็จะนำมาทดสอบคุณภาพด้วยวิธีการต่างๆ ว่าสามารถทนทานต่อแรงสะเทือน การกัดกร่อน แสงยูวี และความชื้นได้ตามมาตรฐานหรือไม่ กระบวนการผลิตหน้าปัดที่โรงงานแห่งนี้เปรียบเหมือนกับการศัลยกรรมมากกว่างานทำโลหะ เรียกได้ว่าเป็นงานระดับฝีมือเลยทีเดียว

 

มาถึงตัวเรือนกันบ้าง หน่วยงานผลิตตัวเรือนนาฬิกาของ TAG Heuer มีชื่อเรียกว่า Cortech ซึ่งปัจจุบันสามารถผลิตตัวเรือนได้ถึง 170,000 ชิ้นต่อปี เริ่มจากการแล่เหล็กออกมาจากแท่งเหล็กต่อด้วยกระบวนการต่างๆ อีกทั้งสิ้น 25 ขั้นตอน ตั้งแต่ปั๊มตัวเรือนออกมาเป็นรูปทรง ต่อด้วยการกลึงให้ได้สัดส่วน ก่อนจะนำไปขัดและเจียรให้ได้ถูกต้องตามแบบ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะต้องผ่านการล้างและการอบที่ความร้อน 1,000 องศาด้วย จากนั้นก็จะนำมาขัดแต่งด้วยมือ สุดท้ายก็จะนำมาทดสอบด้วยการตีด้วยค้อนเหล็กเพื่อตรวจสอบความทนทานต่อการกระแทกและแรงอัด ความแน่นหนาของโลหะ และฝุ่นผงที่แทรกอยู่ในตัวเรือน แม้แต่ปุ่มกดโครโนกราฟก็ยังได้รับการกดทดสอบถึง 5,000 ครั้ง อีกทั้งสายและสายโลหะก่อนจะนำมาใช้ก็จะต้องนำมาผ่านการทดสอบด้วยการบิดและยืดในสภาวะอากาศจำลอง ทั้งในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นอย่างในไซบีเรียและร้อนสุดๆ ในซาฮาร่า เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างดีและมีความทนทานต่อทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ 

 

 

s3j457k679 zoomS

 

Carrera Calibre 1887 Chronograph เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2010 ในตัวเรือนสตีลขนาด 41 มิลลิเมตร เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮ้าส์ Calibre 1887 มี 3 เคาน์เตอร์ย่อยบอก นาทีจับเวลา ชั่วโมงจับเวลา และวินาที ณ ตำแหน่ง 12, 6 และ 9 นาฬิกาตามลำดับ พร้อมหน้าต่างบอกวันที่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาภายในเคาน์เตอร์ชั่วโมงจับเวลา ใช้หลักชั่วโมงแบบแท่ง และมีวงสเกลทาคีมิเตอร์อยู่บริเวณขอบหน้าปัด มีหน้าปัดสีเงินหรือสีดำให้เลือก มาพร้อมสายสตีลหรือสายหนังจระเข้

 

 

Carrera CAR2014.FC6235 Black Dial Aligator Strap 2S

 

Carrera Calibre 1887 Chronograph Rose Gold Colored ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มิลลิเมตร เพิ่งเปิดตัวในปี 2012 เพื่อขยายไลน์ 1887 ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากขนาดตัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ในรุ่นตัวเรือน 43 มิลลิเมตรนี้จะไม่มีสเกลทาคีมิเตอร์บนวงขอบหน้าปัด อีกทั้งวงวินาทีย่อย ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาก็เป็นแบบเรียบไร้ขอบวง วงจับเวลาก็จะไม่มีกรอบวงสีเงินล้อมรอบโดยพื้นวงจับเวลาก็จะเป็นแบบเรียบไร้เส้นสายใดๆ ส่วนหลักชั่วโมงจะใช้เป็นเลขอารบิกทำสีโรสโกลด์เช่นเดียวกับเข็มบอกเวลาและโลโก้ มีหน้าปัดสีเงินหรือสีดำให้เลือก มาพร้อมสายสตีลหรือสายหนังจระเข้ให้อารมณ์ที่แตกต่างไปจากรุ่นตัวเรือน 41 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงมีจำหน่ายควบคู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า

 

 

นาฬิกา TAG Heuer Carrera Calibre 1887 Chronograph จึงมิใช่แต่เพียงเป็นนาฬิกาคอลเลคชั่นที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับเครื่อง Calibre 1887 ที่ผลิตขึ้นเองแบบอินเฮ้าส์เท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นนาฬิการุ่นโปรดักชั่นปกติที่เรียกได้ว่าถูกผลิตขึ้นในแบบอินเฮ้าส์โปรดักชั่นด้วย จากความที่ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เครื่อง หน้าปัด ตัวเรือน การประกอบ ตลอดจนการผลิตสายสตีล ก็ล้วนแล้วแต่ถูกผลิตภายใต้หน่วยงานของ TAG Heuer (หรือ LVMH) เกือบทั้งสิ้น จึงขอเรียก Carrera Calibre 1887 ว่าเป็นนาฬิกาที่อินเฮ้าส์ทั้งตัวและหัวใจอย่างที่นำมาเป็นชื่อของบทความนี้ครับ

 

 

By: Viracharn T.