The Review of Flymagic, the magic of SWATCH

 

นาฬิการุ่นพิเศษๆ จาก SWATCH ที่นักสะสมสายกลไกถามหาและรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Tresor Magique หรือ Diaphane One รวมไปถึงรุ่นยอดนิยมในอดีต กับระยะเวลาการผลิตที่ยาวนานกว่า 10 ปีอย่าง Body and Soul ก็ทำให้เห็นว่านาฬิกาแบบกลไกสำหรับ SWATCH มีความสำคัญในตลาดพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งรวมถึง Flymagic ที่นำมารีวิวในครั้งนี้ด้วย

 

8998

 

นาฬิกา SWATCH รุ่น Flymagic นี้มีให้เลือก 3 แบบคือ Black Suspense, Red Surprise และ Blue Hawk โดยทั้งสามรุ่นมีรูปแบบที่เหมือนกัน ต่างกันที่โทนสี โดย Black Suspense มีตัวเรือนสตีลพีวีดีสีทอง ขอบโรเตอร์บนหน้าปัดสีดำ สายยางสีดำ Red Surprise มีตัวเรือนสตีล ขอบโรเตอร์สีแดง สายยางสีแดง และ Blue Hawk มีตัวเรือนสตีล ขอบโรเตอร์สีเทา สายยางสีน้ำเงิน และทุกแบบยังแนบสายหนังสีต่างกันมาให้อีกด้วย ผลิตแบบจำนวนจำกัด 1,500 เรือนทั่วโลก โดยทุกรุ่นจำหน่ายในราคา 49,500 บาทในประเทศไทย ซึ่งมีการนำเข้ามาจำหน่ายเพียง 60 เรือนในทั้ง 3 รุ่น และจำหน่ายหมดไปแล้วในงาน Watch Expo ที่ผ่านมา

  

IMG 7566 V

 

Flymagic Black Hawk มาพร้อมแพ็คเก็จจิ้งและกล่องแบบหรูหรา ตามแบบนาฬิการะดับสูงทั่วไป โดยมีกล่องกระดาษชั้นนอกเพื่อห่อหุ้มกล่อง และกล่องหนังชั้นในสีน้ำเงินที่โดดเด่นด้วยช่องกระจกด้านบน ที่ทำให้มองเห็นหน้าปัดนาฬิกาที่บรรจุอยู่ภายในได้ นอกจากนี้ทั้งปุ่มกดเปิดกล่อง รวมไปถึงบนพับของกล่องก็ผลิตจากวัสดุชั้นดี อย่างที่นาฬิการุ่น Flymagic นี้แจ้งไว้ว่าผลิตตามมาตรฐาน นาฬิการะดับสูงจากสวิสเซอร์แลนด์ทุกประการ

 

IMG 7579 V

 

เปิดกล่องออกมา จะพบนาฬิการัดอยู่กับหมอนกลางกล่องตามสไตล์นาฬิการะดับสูงทั่วไป ซึ่งวัสดุภายในที่เป็นกำมะหยี่สีน้ำเงินก็ดูหรูหราตามไปด้วย ในขณะที่มีช่องเปิดด้านล่างให้เป็นที่เก็บของสายนาฬิกาที่มีมาให้อีกหนึ่งเส้นในแบบสายหนังสีเทา ซึ่งโดยปกติตัวเรือนที่มาจากโรงงานจะใส่สายยางมาให้ ซึ่งสำหรับ Flymagic Black Hawk ก็จะเป็นแบบสายยางสีน้ำเงิน แต่สำหรับเรือนนี้ในภาพ จะเปลี่ยนเป็นใส่สายหนังสีเทามาไว้เรียบร้อยแล้ว

 

IMG 7606 V

 

หยิบตัวเรือนออกมา จะรู้สึกได้ถึงสัมผัสของความหนัก และแน่นของตัวเรือนที่ผลิตจากสตีล พร้อมหน้าปัดที่ดูเป็นกลไกแม้ในระยะไกล อีกสองส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกก็คือ ขอบเบเซิลที่มีขอบหยักแบบชัตเตอร์ และขาตัวเรือนที่มีซี่รับอีกสองซี่ตรงกลาง ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของนาฬิกา SWATCH ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

 

IMG 7604

 

เมื่อมองเฉพาะส่วนของหน้าปัด จะเห็นเฟืองจักรมากมายทดกันอยู่แน่นช่วงด้านล่างของหน้าปัด ในขณะที่มีดุมกลางตัวเรือนที่สลักหมายเลขประจำเรือนไว้ เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจเมื่อมองหน้าปัดโดยรวม ส่วนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือบาลานซ์วีลบริเวณ 10 นาฬิกาที่บรรจุแฮร์สปริงนิวาครอง จุดเด่นที่สุดของนาฬิกาเรือนนี้ไว้ ทำงานอย่างมั่นคงแม้อยู่ได้รับพลังสนามแม่เหล็กไฟฟ้า

 

IMG 7589 V

 

สองส่วนที่น่าสนใจที่สุดแต่ไม่ค่อยเป็นจุดที่เห็นเด่นชัด นั่นก็คือโรเตอร์กลางหน้าปัดทั้งหมด!!! แต่จะมองเห็นเพียงแค่ขอบด้านข้างสีเทาที่เป็นแท่งโลหะเพื่อถ่วงน้ำหนัก ซึ่งสิ่งที่ทำให้มองไม่เห็นโรเตอร์ขนาดใหญ่บนหน้าปัดเพียงสิ่งเดียว ก็คือการที่โรเตอร์ที่ว่านี้ผลิตจากแซฟไฟร์ที่มีสีใส และเผยให้สามารถมองเห็นหน้าปัดทั้งหมดได้อย่างชัดเจนนั่นเอง

 

IMG 7593 V

 

อีกส่วนที่น่าสนใจแต่ไม่ค่อยเป็นจุดที่เห็นเด่นชัด ก็คือเข็มแสดงวินาทีที่บริเวณ 12 นาฬิการูปสามแฉก ที่เดินถอยหลังกลับ ซึ่งสาเหตุที่เดินถอยหลังกลับก็เพราะว่านาฬิกา Flymagic นี้ใช้กลไกของ Sistem51 นำมากลับด้าน และโมดิฟายให้สามารถมองเห็นกลไกที่เปิดแท่นบางส่วนได้ ซึ่งเป็นที่มาของภาพกลไกในรูปแบบแปลกตากว่ากลไกในนาฬิกาแบบสเกเลตันทั่วๆ ไปอย่างมาก นอกจากนี้ถ้ามองในรายละเอียดแล้ว ยังมีบริดจ์หลายชิ้นที่ผลิตจากแซฟไฟร์วางอยู่บนแท่นกลไกนี้ รวมถึงมาร์กเกอร์ที่ลอยเด่นเกาะของตัวเรือนด้านบนเอาไว้ ซึ่งโดยรวมแล้ว อาจทำให้มองดูหลายอย่างไม่ค่อยเด่นชัด ทั้งชื่อแบรนด์ รวมไปถึงเข็มนาฬิกาอีกด้วย

 

ขอบเบเซิลมีการเซาะร่องด้านในขัดด้าน ด้านนอกขัดเงา ผลิตตามมาตรฐานการผลิตในระดับสูงอย่างเห็นได้ชัด ขอบตัวเรือนด้านข้างมีการเซาะร่องและจัดวางพื้นที่ในจุดต่างๆ ได้พอดีและลงตัว ด้านบนแบบขัดด้านอย่างละเอียด เม็ดมะยมขัดเงา มีน้ำหนัก และความแน่นในการดึงใช้งาน รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด ก็เป็นสตีลเกรดสูงเช่นเดียวกันกับนาฬิการะดับสูงทั่วไป

 

IMG 7595 V

 

ด้านหลังตัวเรือนเป็นอีกจุดที่น่าสนใจมาก นักสะสมหลายคนน่าจะมองเห็นจุดนี้ได้ดีเนื่องจาก SWATCH ไม่เคยผลิตนาฬิกาที่สามารถเปิดฝาหลังได้ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นาฬิการุ่นนี้ใช้ตัวเรือนแบบฝาหลังขันสกรูว์ 8 ตัว โดยสร้างพื้นที่ให้สกรูว์หลบจากฝาหลัง เพื่อป้องกันความชื้นโดยตรงที่อาจเข้าสู่ชุดสกรูว์ได้ ซึ่งจุดนี้เป็นอีกจุดที่ทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถเซอร์วิสได้อย่างง่ายดาย และทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถอยู่คู่กับนักสะสมไปได้ ในลักษณะเดียวกันกับนาฬิการะดับสูงทั่วไปได้อย่างแท้จริงในอนาคต

 

IMG 7598 V

 

บนข้อมือ นาฬิกาเรือนนี้แม้มีขนาดใหญ่ถึง 45 มิลลิเมตร แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเกินไปกว่าข้อมือ เนื่องจากการจัดวางรูปทรงของหน้าปัดและขอบเบเซิลที่ดี ที่ช่วยทำให้เมื่อมองแล้ว ไม่ได้ดูใหญ่และล้นข้อมือมากจนเกินไป ในขณะที่การสวมใส่ก็เป็นไปได้อย่างคล่องตัว ทั้งการใช้งานเม็ดมะยมในการตั้งเวลา และสายทั้งสองเส้นในขณะใช้งาน ก็ถือเป็นนาฬิกาที่ใช้งานในชีวิตประวันได้อย่างสะดวกสบาย

 

IMG 7280

 จุดแสดงการจำลองให้เห็นถึงผลของแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีต่อกลไลการทำงาน ที่แสดงในบูธ SWATCH ในงาน Watch Expo 2019

 

IMG 7316